หินติดไฟ
สิรินาฎ เลาหะโรจนพันธ์
ศศิพันธุ์ คะวีรัตน์

ในสังคมไทยมักมีเรื่องประหลาด ๆ เกิดขึ้นมากมาย และรายการทางโทรทัศน์ก็มักสรรหาเรื่องแปลกประหลาดเหล่านี้ มานำเสนอได้อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว คือเมื่อปี พ.ศ. 2549 เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ ก็ได้มีโอกาสเข้าไปไขปริศนาด้วยเรื่องหนึ่ง ก็คือ “หินติดไฟ”

เรื่องก็คือมีชาวบ้านหลายรายแถว ๆ จังหวัดภาคอีสานที่อยู่ติด ๆ กับแม่น้ำโขง ไปพบหินประหลาดที่ติดไฟได้เองในอากาศ ต้องเก็บใส่ลงไปในน้ำจึงไม่ติดไฟ พอเอาออกมาจากน้ำสักพักก็ติดไฟขึ้นเองได้อีก ชาวบ้านรายหนึ่งจึงติดต่อนำไปออกรายการโทรทัศน์ของบริษัทแกรมมี่ เทเลวิชั่น จำกัด ในตอนนั้นก็คงจะงงกันไปหมดทั้งคนติดต่อและคนทำรายการโทรทัศน์ สงสัยใคร่รู้ว่า “หินติดไฟ” นี้คืออะไรกันแน่ แล้วก็คงมีใครสักคน “ปิ๊งไอเดีย” ขึ้นมาว่า “เรื่องนี้คงต้องเกี่ยวข้องกับ “รังสี” แน่ ๆ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 บริษัทแกรมมี่ เทเลวิชั่น จึงได้มีหนังสือติดต่อขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยทำการวิเคราะห์ “หินติดไฟ” และได้บันทึกเทปโทรทัศน์การวิเคราะห์วัตถุดังกล่าวไว้ด้วยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549

การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าวัตถุที่เรียกว่า “หินติดไฟ” ที่ได้รับมาเป็นของแข็งสีขาวขุ่น บรรจุอยู่ในขวดแก้ว มีน้ำเต็ม มีความนิ่ม สามารถตัดได้โดยใช้กรรไกร

ขั้นต่อมาคือวิธีการตรวจสอบด้วยวิธีการทางทางเคมี ซึ่งพบว่าเมื่อนำขึ้นจากน้ำและวางในอากาศโดยเฉพาะบนกระดาษกรอง ก็สามารถติดไฟได้เอง ได้สารประกอบที่มีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งตรงกับสมบัติของสารฟอสฟอรัสขาว และเมื่อนำสารละลายของวัตถุที่ได้จากการเผาไหม้ มาวิเคราะห์อนุมูลเคมีโดยเครื่องวิเคราะห์ไอออน (ion analyzer) ก็พบว่าเป็นอนุมูลฟอสเฟตซึ่งได้จากการเผาไหม้ของธาตุฟอสฟอรัส

เมื่อวิธีการทางเคมีตะล่อมแคบลงมาที่ธาตุฟอสฟอรัสแล้ว ก็ถึงขั้นตอนของเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นกรมวิธีที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งเราเลือกใช้การตรวจสอบด้วยวิธีการวิเคราะห์ธาตุโดยการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray fluorescence analysis) ก็พบว่าสเปกตรัมของวัตถุดังกล่าวเป็นของธาตุฟอสฟอรัสจริง

สเปกตรัมรังสีเอกซ์เรืองของวัตถุที่เรียกว่า “หินติดไฟ”
นอกจากนี้เมื่อได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากคู่มือ Handbook of Chemistry and Physics และจากเว็บไวต์ www.suppliersonline.com/ research/charts/periodic/015phosphorus.asp ก็สามารถสรุปและหารายละเอียดได้มากขึ้นว่า วัตถุดังกล่าวคือธาตุฟอสฟอรัสขาวอย่างแน่นอน โดยวิเคราะห์พบธาตุฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบหลักและมีสมบัติทางเคมีและกายภาพ ตรงกับ สารฟอสฟอรัสขาว (white phosphorus) ซึ่งเป็นวัตถุมีพิษที่ไม่สามารถเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ติดไฟได้เองในอากาศ ไม่ละลายในน้ำ แต่ละลายได้ในคาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide) จึงสามารถเก็บไว้ใต้น้ำได้โดยไม่เกิดปฏิกิริยาใด ไม่ควรใช้มือสัมผัสเพราะอาจเกิดการลุกไหม้ได้ ควันที่เกิดจากการเผาไหม้มีพิษ และเป็นอันตรายอย่างสูงต่อระบบทางเดินหายใจและปอด การที่พบวัตถุชนิดนี้มากบริเวณแม่น้ำโขง อาจเนื่องมาจากการมีการใช้วัตถุดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของอาวุธในระหว่างการทำสงคราม ครั้นเมื่อสงครามสงบ ก็นำมาทิ้งไว้ใต้น้ำเพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยากับอากาศ