โรคพยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomasis) กับการฉายรังสีอาหาร

ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
พยาธิจี๊ดหรือพยาธิตัวจี๊ด เป็นพยาธิตัวกลมประเภทหนึ่งอยู่ในสกุล Gnathostoma โรคที่เกิดจากพยาธิประเภทนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า โรคตัวจี๊ด (Gnathostomiasis) ชนิดที่พบมากคือ Gnathostoma spinigerum จัดเป็นพยาธิที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากชนิดหนึ่ง หากมันสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ เพราะยังไม่มียาชนิดใดที่มีผลในการรักษา พยาธิชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายคนได้ ก็ด้วยการกินเนื้อสัตว์ดิบหรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น อาหารประเภทปลาดิบ ปลาส้มฟักหรือยำกบ ที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้อยู่ในเนื้อสัตว์นั้น การดื่มน้ำไม่สะอาดที่มีกุ้งไร (Cyclops) ปนอยู่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายคนได้ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดเข้าสู่ร่างกายคน มันจะชอนไชเคลื่อนที่ไปตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ
พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum)

ทำให้เกิดอาการบวมเคลื่อนที่ (Migratory swelling) ขึ้นตามตำแหน่งที่พยาธิอยู่ เกิดการบวมแดง คันและเจ็บจี๊ดอย่างรุนแรงขึ้นใต้ผิวหนัง หากเคลื่อนไปที่ลูกตาจะทำให้เกิดแผลขึ้นที่กระจกตา ถ้าเคลื่อนไปที่ปอดจะทำให้ปอดและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ และชอนไชเข้าไปถึงสมองจะทำให้เนื้อสมองบวมอักเสบ

การเขียนเรื่องของพยาธิตัวจี๊ดกับการฉายรังสีอาหารนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ

ข้อแรก ต้องการบอกให้ทราบว่าโรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ดเรียกว่า Gnathostomiasis ไม่ใช่ Trichinosis หรือ Trichinellosis เพราะพบบทความเกี่ยวกับอาหารฉายรังสีกล่าวถึงการใช้รังสีแกมมากำจัดพยาธิที่ทำให้เกิดโรค Trichinosis ว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ด รวมทั้งในงานประชุมวิชาการการเกษตรแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฉายรังสีอาหาร กล่าวถึงโรค Trichinosis ในสุกรและเข้าใจกันไปว่าเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดเช่นกัน ทั้งนี้เข้าใจว่าเกิดจากพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย บางเล่มให้ความหมายไว้ไม่ถูกต้อง กล่าวคือให้ความหมายไว้ว่า Trichinosis หมายถึงโรคที่เกิดจากพยาธิตัวจี๊ด ซึ่งทำให้ผิดความหมายไป ผู้แปลที่ไม่ทราบที่มาของโรคนี้ก็จะแปลผิดไปตามพจนานุกรมนั้น

โรค Trichinosis หรือ Trichinellosis คือ โรคพยาธิกล้ามเนื้อ เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมประเภทหนึ่งอยู่ในสกุล Trichinella. โดยเฉพาะ Trichinella spiralis โดยทั่วไปโรคนี้มักพบในสัตว์ป่ากินเนื้อ (Meat-eating) แต่อาจพบในสุกรที่เลี้ยงตามบ้านได้เช่นกัน การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนของพยาธิและเนื้อสัตว์นั้นผ่านการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบ หลู่ และแหนมดิบ ทำให้ตัวอ่อนของพยาธิเข้าสู่ร่างกายคนได้ โดยเฉพาะเนื้อสุกรของชาวเขาและสุกรป่า อาการของโรคในคน ระยะแรก ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน มีไข้ และรู้สึกไม่สบายภายในท้อง ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น หนังตาบวม ปวดข้อและกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน ในรายที่รับเชื้อเข้าไปมาก ๆ ผู้ป่วยอาจมีปัญหาการทำงานของหัวใจและการหายใจผิดปกติถึงขั้นเสียชีวิตได้

ข้อสอง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการฉายรังสีอาหารโดยตรง คือ การใช้วิธีการฉายรังสีเพื่อกำจัดพยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เนื่องจากพยาธิ 2 ชนิดดังกล่าว มีความทนทานต่อรังสีแกมมาแตกต่างกันมาก ดังนั้นปริมาณรังสีที่ใช้เพื่อกำจัดมันจึงแตกต่างกัน

การฉายรังสีอาหารเพื่อกำจัดพยาธิ Gnathostoma spinigerum ที่ทำให้เกิดโรค Gnathostomiasis ต้องใช้ปริมาณรังสีถึง 8 กิโลเกรย์ จึงจะทำลายความสามารถในการทำอันตราย (Infectivity) ของพยาธิชนิดนี้ได้ ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาวิจัยของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เรื่องผลของรังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ต่อตัวอ่อนระยะติดตามของพยาธิตัวจี๊ด(1)ความสามารถในการทนต่อปริมาณรังสีได้สูงขนาดนี้ นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ คือ สามารถทนต่อปริมาณรังสีสูงพอ ๆ กับแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ (Spore forming bacteria) โดยทั่วไปแล้วความทนทานต่อรังสีของสิ่งมีชีวิตมักจะจะแปรผกผันกับขนาดของสิ่งมีชีวิตนั้น กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่ (การดำรงอยู่ของเซลล์จะยิ่งซับซ้อน) จะทนต่อรังสีได้น้อยกว่าสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็ก (สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว) เช่น พยาธิทนรังสีได้น้อยกว่าแบคทีเรีย และแบคทีเรียทนรังสีได้น้อยกว่าไวรัส

สำหรับการฉายรังสีอาหารเพื่อกำจัดพยาธิ Trichinella spiralis ที่ทำให้เกิดโรค Trichinosis ใช้ปริมาณรังสีเท่ากับ 0.15 กิโลเกรย์ ก็สามารถป้องกันไม่ให้ทำอันตรายแก่คนได้แล้ว(2,3) และปริมาณรังสี 0.3 กิโลเกรย์ สามารถกำจัดพยาธิชนิดนี้ได(4) ซึ่งจะเห็นได้ว่าปริมาณรังสีที่ใช้เพื่อกำจัดพยาธิที่ก่อโรค Gnathostomiasis สูงกว่าพยาธิที่ก่อโรค Trichinosis หลายสิบเท่า

เอกสารอ้างอิง

  1. ประเสริฐ เสตสุบรรณ, ปัญญาวุฒิ หิรัญญะชาติธาดา, สมจิต ภู่บำเพ็ญ, ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์, วิชิต โรจน์กิตติคุณ และ พารณ ดีคำย้อย (2535) ผลของรังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ต่อตัวอ่อนระยะติดตามของพยาธิตัวจี๊ด การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า วันที่ 20-22 ตุลาคม 2535
  2. Taylor, E. L. and J. W. Parfitt. "Destruction by Irradiation of Parasites Transmitted to Man Through Butcher's Meat," Int. J. Appl. Rad. Isotopes 6, 194, 1959
  3. Gibbs, H. C. et. Al., "The Effect of Cobalt-60 Radiation on Trichinella spiralis in Meat" in Gamma Irradiation in Canada V. III, Atomic Energy of Canada, Ltd., Ottawa, 1961
  4. U.S. Department of Energy, Byproducts Utilization Program. Trichina-safe Pork by Gamma Irradiation Processing. A Feasibility Study. CH2M HILL, Aug. 1983.