คนญี่ปุ่นกับนิวเคลียร์

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อพูดถึงคนญี่ปุ่นกับนิวเคลียร์ แทบทุกคนคงนึกไปถึงการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิของญี่ปุ่น เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่อันที่จริง มีนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมาก ในด้านนิวเคลียร์ ท่านมีชื่อว่า ฮิเดคิ ยูคาวา (Hideki Yukawa) เรื่องมีว่า…

   ระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองอิโรชิมาและนางาซากิ

เมื่อช่วงทศวรรษที่ ค.ศ. 1920 นั้น อนุภาคที่มีขนาดเล็กว่าอะตอม หรืออาจเรียกว่า อนุภาคย่อยของอะตอม (subatomic particles) ที่รู้จักกันก็คือ โปรตอน กับอิเล็กตรอน และเชื่อกันว่า นิวเคลียสของอะตอมก็ประกอบขึ้นจากโปรตอนกับอิเล็กตรอน แต่โดยที่โปรตอนผลักกันเอง และโปรตอนดูดกันกับอิเล็กตรอน จึงเชื่อกันว่า อิเล็กตรอนทำหน้าที่เหมือนกับกาวหรือซีเมนต์ ที่เชื่อมโปรตอนกับอิเล็กตรอนให้เกาะกันเเป็นนิวเคลียสได้ นี่เรียกว่าทฤษฎีโปรตอน-อิเล็กตรอน

ต่อมาในปี ค.ศ. 1930 เซอร์แชดวิก (Sir Chadwick) ก็ค้นพบอนุภาคนิวตรอน และนับแต่นั้น ก็เป็นที่ตระหนักกันว่า องค์ประกอบของนิวเคลียส คือ โปรตอนกับนิวตรอน ไม่ใช่โปรตอนกับอิเล็กตรอน ทฤษฎีโปรตอน-อิเล็กตรอน ก็เป็นอันตกไป กลายเป็นทฤษฎีโปรตอน-นิวตรอนขึ้นมาแทน แล้วก็เกิดปัญหาว่า มีอะไรที่อยู่ภายในนิวเคลียส ที่ป้องกันไม่ให้โปรตอนผลักกันเอง จนนิวเคลียสไม่แตกดังโพล๊ะออกมา

แล้วในปี ค.ศ. 1935 ก็มีนักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อว่า ฮิเดคิ ยูคาวา ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ในนิวเคลียสน่าจะมีแรงนิวเคลียร์ที่ยึดโยงโปรตอนกับนิวตรอนเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น เขาก็ลงมือศึกษาหาแรงดูดที่ว่า ว่าจะต้องมากพอที่จะคุมนิวเคลียสเข้าไว้ด้วยกันได้ ซึ่งแรงนี้คงรู้สึกได้ก็แค่ในรัศมีความกว้างของนิวเคลียสนั่นเอง ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ถ้าแรงที่ว่านี้จะทำงานได้ผล ก็น่าจะเกิดจากมีอนุภาคจำนวนหนึ่ง ถูกถ่ายเทอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ระหว่างโปรตอนกับนิวตรอน จากนั้น เขาก็คำนวณออกมาว่า อนุภาคนี้ควรมีมวลมากกว่าอิเล็กตรอนประมาณ 273 เท่าตัว หรือประมาณ 1 ใน 7 ของมวลโปรตอนหรือนิวตรอน แต่อนุภาคที่มีมวล ขนาดระหว่างอิเล็กตรอนกับโปรตอนอย่างนี้ ไม่เคยมีใครค้นพบกันมาก่อนเลย

ฮิเดคิ ยูคาวา
คาร์ล ดี. แอนเดอสัน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1936 ขณะเมื่อนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อว่า คาร์ล ดี. แอนเดอร์สัน (Carl D. Anderson) ได้ศึกษารอยทางเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิก ด้วยห้องหมอก (cloud chamber) เขาบังเอิญพบรอยทางของอนุภาค ที่มีมวลกลางๆ ระหว่างอิเล็กตรอนกับโปรตอน จึงเรียกมันว่า มีโซตรอน โดยคำว่า มีโซ เป็นคำภาษากรีก ที่แปลว่า กลางๆ แล้วต่อมา มีโซตรอน ก็กร่อนลงมาเป็น มีซอน ต่อมาภายหลัง ก็มีคนอื่นๆ ค้นพบอนุภาคอีกหลายชนิดที่มีมวลอยู่ในช่วงกลางๆ อย่างนี้ คำว่า มีซอน ก็ถูกใช้เรียกรวมๆ หมายถึง อนุภาคที่มีมวลอยู่ระหว่างอิเล็กตรอนกับโปรตอน
ห้องหมอก
รอยทางของอนุภาคที่เห็นได้จากห้องหมอก
ครั้นถึงปี ค.ศ. 1947 นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษชื่อว่าซีซิล แฟรงก์ พาเวลล์ (Cecil Frank Powell) กับพวก ขณะศึกษาอนุภาคคอสมิก ก็พบอนุภาคที่มีขนาดและสมบัติต้อง ตรงกับที่ยูคาวาเสนอไว้ และให้ชื่อว่า พาย-มีซอน (pi-meson) ซึ่งกร่อนเป็น พายออน (pion) ส่วนอนุภาคที่แอนเดอร์สันค้นพบ ก็เรียกกันว่า มิว-มีซอน (mu-meson) ซึ่งกร่อนเป็น มิวออน (muon) ดั่งนี้ ทฤษฎีของยูคาวา ก็เป็นที่ยอมรับ และทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เมื่อปี ค.ศ. 1949
พายออนที่ยึดโปรตอนเข้ากับนิวตรอน