สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี (radiation warning sign)

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ในหนังสือศัพทานุกรมนิวเคลียร์ ที่จัดพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้ให้คำอธิบายศัพท์ “สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี” ไว้ว่า

สัญลักษณ์สากลที่กำหนดขึ้นเพื่อเตือนให้ทราบว่ามีรังสี หรือให้ระวังรังสี ประกอบด้วยใบพัด 3 แฉก สีม่วงหรือสีดำ อยู่บนพื้นสีเหลือง สัญลักษณ์นี้ใช้ติดที่ภาชนะบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีหรือบริเวณรังสี

สัญลักษณ์นี้มีประวัติความเป็นมาที่สนุกสนานและน่าสนใจพอสมควร

แน่นอนว่า ตำนานนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลก ที่มีโครงการขนาดมหึมาด้านนิวเคลียร์ มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

พอล เฟรม (Paul Frame) แห่งมหาวิทยาลัยในเครือของโอกริดจ์ (Oak Ridge Associated University) เล่าว่า เมื่อ ราว 60 ปีก่อน คือในปี ค.ศ. 1946 เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งของห้องปฏิบัติการทางรังสี แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ (University of California Radiation Laboratory in Berkeley) ช่วยๆ กันลากโน่นเขียนนี่ขยุกขยิก แล้วกลายเป็นสัญลักษณ์นี้ออกมา โดยมีหลักฐานปรากฏอยู่ ในจดหมายที่เขียนขึ้นโดย เนลส์ การ์เดน (Nels Garden) หัวหน้าของ Health Chemistry Group ที่ห้องปฏิบัติการทางรังสีดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อความว่า......

“หลายคนในกลุ่มเสนอแนะเหตุผลกันต่างๆ นา และมีอันหนึ่งที่กระตุ้นความสนใจมากที่สุด เป็นแบบที่ดูเหมือนจะแสดงถึงกัมมันตภาพรังสี ที่แผ่ออกมาจากอะตอม” นี่เองที่ทำให้สัญลักษณ์นี้ มีวงกลมอยู่ตรงกลาง เป็นเสมือนกับอะตอม และมีใบพัดสามแฉก ที่เป็นเหมือนกับรังสี ที่แผ่ออกมาจากอะตอมตรงกลาง (ลักษณะที่เป็นใบพัด 3 แฉกเช่นนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Trefoil)

R คือ รัศมีของส่วนที่เป็นวงกลม

สัญลักษณ์แรกที่พิมพ์ขึ้นใช้ที่เบิร์กลีย์นี้ใช้ตัวสัญลักษณ์เป็นสีม่วง (Martin Senour Roman Violet No. 2225) อยู่บนพื้นสีน้ำเงิน ซึ่งในจดหมายของการ์เดนก็บอกเอาไว้ด้วยว่าทำไมจึงเลือกใช้สีม่วงเฉดนี้

“สีนี้แตกต่างและไม่ซ้ำซ้อนกับสีของสัญลักษณ์อื่นที่มีใช้กันอยู่ก่อน และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ สีนี้มีราคาแพง จึงไม่มีใครนำมาใช้กันเปรอะไปหมด” สำหรับสีพื้นที่เป็นสีน้ำเงิน ในจดหมายของการ์เดนอธิบายไว้ว่า “ที่เลือกใช้สีน้ำเงินเพราะสีนี้ไม่ค่อยมีใช้ตามที่ต่างๆ ของห้องปฏิบัติการทางรังสี” การ์เดนไม่ชอบสีพื้นสีเหลืองเพราะว่า “ที่จริงก็คือ... สีเหลืองมองเห็นง่าย เด่นออกมากว่าสีอื่นๆ จึงมีคนนิยมใช้กันมากจนดูธรรมดาเกินไป” การที่สีพื้นสีน้ำเงินไม่ค่อยเด่น การ์เดนจึงคิดเล่นๆ ว่าจะชดเชยด้วยการใช้แถบสีขาวพาดทับสัญลักษณ์ตามแนวทแยงมุม

อันที่จริง เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการ์เดน ที่เลือกสีพื้นเป็นสีน้ำเงิน เพราะสีน้ำเงินไม่ให้ความรู้สึกถึง “การเตือน” และสียังจางลงได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่ออยู่กลางแจ้ง

ที่มาของการใช้สีพื้นเป็นสีเหลือง ว่ากันว่า มีที่มาจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอกริดจ์ (Oak Ridge National Laboratory) ซึ่งราวต้นปี ค.ศ. 1948 เค. แซด. มอร์แกน (K.Z. Morgan) ได้มอบหมายให ้บิลล์ เรย์ (Bill Ray) และจอร์จ วอร์ลิก (George Warlick) ปรับปรุงสัญลักษณ์นี้ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเรย์ถึงกับลงทุน เดินทางไปที่เบิร์กลีย์ แล้วหอบเอาสัญลักษณ์เหล่านี้ จำนวนหนึ่งกลับมาที่โอกริดจ์ จากนั้น เรย์กับวอร์ลิก ก็ให้เจ้าหน้าที่กราฟิก ช่วยกันตัดส่วนใบพัดสีม่วง ออกมาแปะบนแผ่นกระดาษ ที่มีสีต่างๆ กัน แล้วนำไปตั้งกลางแจ้ง ห่างออกไป 20 ฟุต แล้วเรียกคนมาเยอะๆ ช่วยกันเป็นกรรมการตัดสิน ปรากฏว่ามีมติ เลือกให้สีม่วงบนพื้นเหลือง ว่าเข้าคู่ได้เหมาะกันที่สุด

อันที่จริงในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1940 และต้นทศวรรษปี ค.ศ. 1950 สัญลักษณ์ทุกแบบที่เบิร์กลีย์ออกแบบไว้ มีการแนะนำให้ใช้ และมีผู้นำไปใช้กันทั่วไปตามใจชอบ และที่นิยมกันมาก ก็คือแบบที่มีลูกศร ที่เป็นเส้นตรง หรือลูกศรที่เป็นลูกคลื่น แทรกอยู่ระหว่างใบพัด หรืออยู่บนตัวใบพัดเลยก็มี ต่อมาในปลายทศวรรษปี ค.ศ. 1950 สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (American National Standards Insitute หรือ ANSI) จึงได้กำหนดให้ใช้สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี อย่างที่ใช้กันอยู่ทั่วไป โดยอนุโลมให้ใช้สีของตัวใบพัดเป็นสีดำก็ได้

 
สัญลักษณ์นี้แม้จะมีกำเนิดในสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นที่ยอมรับและใช้กันอยู่ในแวดวงนิวเคลียร์ทั่วโลกในปัจจุบันนี้