การกลายพันธุ์

กนกพร บุญศิริชัย วไลลักษณ์ แพทย์วิบูลย์ วิชัย ภูริปัญญวานิช
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เซลล์ของคน สัตว์ พืช และจุลินทรีย์ มีดีเอ็นเอซึ่งเปรียบเสมือนแบบพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เป็นตัวกำหนดว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีลักษณะหน้าตาอย่างไร และจะถ่ายทอดลักษณะใดบ้างให้แก่เซลล์ลูกหลาน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโมเลกุลของดีเอ็นเอซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่เซลล์ลูกหลานได้เรียกว่า “การกลาย (mutation)”

ภายในเซลล์ ดีเอ็นเอจะจัดเรียงตัวอยู่กับโปรตีน เป็นโครงสร้างที่เราเรียกว่า “โครโมโซม” ส่วนการจัดเรียงตัวของลำดับนิวคลีโอไทด์ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของดีเอ็นเอ จะเป็นรหัสบ่งบอกหน้าที่ของแต่ละส่วนบนสายดีเอ็นเอนั้น ซึ่งเราเรียกส่วนที่เป็นรหัสสำหรับการสร้างโปรตีนว่า “ยีน” การกลายสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับยีนและในระดับโครโมโซม หากการกลายนั้นเกี่ยวข้องกับยีนใดยีนหนึ่ง จะจัดเป็นการกลายในระดับยีน (gene mutation) หากการกลายเกี่ยวข้องกับลำดับนิวคลีโอไทด์เป็นจำนวนมาก หรือมีผลให้โครงสร้างในระดับโครโมโซมเปลี่ยนไป จะจัดเป็นการกลายในระดับโครโมโซม (chromosome mutation)

 
  U.S. Department of Energy Human Genome Program, http://www.ornl.gov/hgmis

การกลายอาจเกิดขึ้นได้ จากสารก่อกลายพันธุ์ หรือจากรังสี สารก่อกลายพันธุ์ เช่น ethylmethanesulfonate และ ethylnitrosourea สามารถทำปฏิกิริยากับนิวคลีโอไทด์ เป็นสาเหตุให้ลำดับนิวคลีโอไทด์เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจมีการขาดหายไป การเพิ่มจำนวน หรือการเปลี่ยนชนิดของนิวคลีโอไทด์ในโมเลกุลของดีเอ็นเอ การกลายที่เกิดจากสารก่อกลายพันธุ์มักจะจำกัดอยู่เฉพาะ 1-2 นิวคลีโอไทด์ต่อตำแหน่งการกลาย ซึ่งจัดเป็นการกลายในระดับยีน

รังสี เช่น รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสีนิวตรอนเร็ว สามารถก่อให้เกิดการกลายในระดับยีนได้เช่นเดียวกันกับสารก่อกลายพันธุ์ และยังสามารถก่อให้เกิดการแตกหักของโมเลกุลดีเอ็นเอได้อีกด้วย การกลายจากรังสีจึงอาจประกอบด้วยการขาดหายไปของลำดับนิวคลีโอไทด์จำนวนมาก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1 ยีน หรืออาจส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างโมเลกุลดีเอ็นเอจากต่างโครโมโซม ซึ่งจัดเป็นการกลายระดับโครโมโซม

 
 
การแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างโครโมโซมจากรังสี
การกลายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการกลายในระดับยีน อาจไม่แสดงลักษณะทางสรีระหรือทางสัณฐานให้เห็นเสมอไป การกลายที่จะแสดงผลทางสรีระหรือผลทางสัณฐาน ต้องเป็นการกลายที่ส่งผลให้การทำงานของยีนนั้นผิดปกติไป หรือเป็นการกลายที่เป็นผลให้ผลิตผลจากยีนนั้นทำงานผิดปกติ การทำงานที่ผิดปกติของยีนมักหมายถึงการผลิตอาร์เอ็นเอจากยีนในอัตราที่ผิดปกติ ส่วนผลิตผลจากยีนประกอบด้วยอาร์เอ็นเอและโปรตีน หากอาร์เอ็นเอหรือโปรตีนมีการทำงานผิดปกติไป เช่น เอนไซม์อินซูลินที่ทำงานผิดปกติ จะสามารถแสดงลักษณะทางสรีระให้เห็นได้
 
  U.S. Department of Energy Human Genome Program, http://www.ornl.gov/hgmis
การตรวจสอบหาความแตกต่างในระดับดีเอ็นเอระหว่างพันธุ์กลายกับพันธุ์เดิม อาจทำได้โดยการเปรียบเทียบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA fingerprint) ดีเอ็นเอที่สกัดได้จากสิ่งมีชีวิตจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์เอนโดนิวคลีเอสชนิดตัดจำเพาะ (restriction endonuclease) แล้วนำไปเพิ่มจำนวนเพียงบางส่วนเพื่อการตรวจสอบเปรียบเทียบ ขนาดของชิ้นดีเอ็นเอซึ่งเป็นผลมาจากการย่อยที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของโครโมโซม จะเป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดหรือแต่ละสายพันธุ์ แต่การตรวจสอบด้วยวิธีนี้เพียงวิธีเดียวมักไม่สามารถตรวจพบความแตกต่างระหว่างพันธุ์กลายกับพันธุ์เดิมได้ และหากพบก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าความแตกต่างนั้นเป็นผลให้เกิดลักษณะกลายที่ต้องการศึกษา การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างลักษณะกลายกับชิ้นส่วนดีเอ็นเอต่าง ๆ ในการยึดเรียงบนโครโมโซม (linkage analysis) เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
 
 
ลายพิมพ์ดีเอ็นเอของข้าว
ในสิ่งมีชีวิตที่มีวงชีวิตเป็นแฮพลอยด์ (haploid หรือ -มีโครโมโซมหนึ่งชุด) สลับกับดิพลอยด์ (diploid หรือ -มีโครโมโซมสองชุด) และสามารถผสมพันธุ์ได้ เช่น พืช สัตว์ และ ยีสต์หรือเชื้อราบางชนิด การวิเคราะห์ linkage สามารถทำได้โดยการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการกระจายตัวของลักษณะต่าง ๆ ในประชากรลูกผสมชั่วรุ่นที่สอง ทั้งทางสรีระและทางดีเอ็นเอ จากนั้นจึงสำรวจหาชิ้นส่วนดีเอ็นเอซึ่งสามารถพบได้เฉพาะในลูกผสมที่แสดงลักษณะกลาย แต่ไม่พบในลูกผสมซึ่งแสดงลักษณะปกติ ชิ้นส่วนดีเอ็นเอนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องหมายดีเอ็นเอสำหรับลักษณะกลายได้ และหากต้องการทราบตำแหน่งของการกลายบนโครโมโซม ชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบลำดับดีเอ็นเอ ระหว่างพันธุ์กลายกับพันธุ์เดิมโดยละเอียดต่อไป
 
  U.S. Department of Energy Human Genome Program, http://www.ornl.gov/hgmis