ดาวกับรังสี

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อปี ค.ศ. 1781 นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเกิดในเยอรมัน ชื่อว่าวิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) ได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ของระบบสุริยะ ซึ่งได้สร้างความตื่นเต้นขนานใหญ่ ให้กับเหล่านักวิทยาศาสตร์ เหตุการณ์นี้นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ครั้งแรก ที่ได้มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพื่อความแน่ใจ จะลองไล่เรียงให้ดูดังนี้ โดยนับตั้งแต่หลังที่มีการประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลได้ 150 ปีนั้น มีผู้ส่องกล้องพบดวงจันทร์ 4 ดวงว่าโคจรรอบดาวพฤหัสบดี และยังพบอีก 4 ดวงโคจรรอบดาวเสาร์ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงดาวบริวารของดาวเคราะห์ ดังนั้น ในครั้งนี้จึงเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ที่แท้จริง ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และโคจรในระยะไกลเป็นสองเท่าของดาวเสาร์ ซึ่งอยู่ไกลที่สุดแล้ว เท่าที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งคนในสมัยโบราณท่านได้ค้นพบมาก่อนหน้าเป็นพันปีแล้ว

วิลเลียม เฮอร์เชล
มาร์ทีน คลัพโรท

ดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้ซึ่งนับเป็นดวงที่เจ็ดได้รับการขนานนามว่า ยูเรนัส (Uranus) ตามชื่อของเทพเจ้าแห่งสวรรค์ของกรีก คือ อูรานอส (Ouranos) ผู้ซึ่งตามตำนานปรัมปราวิทยา (mythology) ของกรีกบอกว่าเป็นบิดาของ โครนอส (Chronos หรือภาษาอังกฤษคือ Saturn หรือ ดาวเสาร์ ดาวเคราะห์ดวงที่หกของระบบสุริยะ) และเป็นปู่ของ ซูส (Zeus หรือภาษาอังกฤษคือ Jupiter หรือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ดวงที่ห้าของระบบสุริยะ)

คงพอสำหรับเรื่องของดวงดาว ทีนี้มาว่าถึงอีก 8 ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1789 นักเคมีชาวเยอรมันชื่อว่ามาร์ทีน คลัพโรท (Martin Klaproth) ผู้คร่ำเคร่งกับแร่หนักสีดำที่เรียกว่า พิตช์เบลนด์ (pitchblende) ในแร่นั้นเขาพบหลักฐานว่ามีโลหะชนิดใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จักอยู่ด้วย แล้วความที่เป็นประเพณีที่สืบทอดมานมนาน ในหมู่นักเล่นแร่แปรธาตุในยุคกลาง ของทางยุโรป ที่ชอบตั้งชื่อของโลหะด้วยชื่อของดวงดาวบนท้องฟ้า ยกตัวอย่าง พวกเขาเรียกทองคำว่าดาวอาทิตย์ (Sun) เรียกโลหะเงินว่าดาวจันทร์ (Moon) เรียกทองแดงเป็นดาวศุกร์ (Venus) เรียกเหล็กเป็นดาวอังคาร (Mars) และเรียกปรอทเป็นดาวพุธ (Mercury) เป็นต้น ตกลงตอนนี้ก็มีทั้งดาวดวงใหม่แล้วก็โลหะชนิดใหม่ ดังนั้น Klaproth ก็จึงตั้งชื่อโลหะชนิดใหม่ที่เขาค้นพบว่า ยูเรเนียม ตามชื่อของดาวยูเรนัสที่เป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่

อีกศตวรรษครึ่งต่อมา ก็มีเสียงสะท้อนของเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1940 ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ก็สามารถสังเคราะห์ธาตุใหม่ขึ้นได้ 2 ธาตุจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ก่อนหน้านี้ธาตุยูเรเนียม (ที่มีเลขเชิงอะตอม 92) นับเป็นธาตุที่ยุ่งยากซับซ้อนที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยรู้จักกันมา แต่ในตอนนั้น ทุกคนต่างตระหนักดีว่า ธาตุทั้งสองธาตุที่พบใหม่นี้ ยังเป็นธาตุที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งกว่าเสียอีก โดยมีเลขประจำธาตุ หรือเลขเชิงอะตอมเป็น 93 และ 94 ดังนั้น ทั้งสองธาตุนี้ จึงได้รับการขนานนาม ตามชื่อของดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบ ภายหลังจากการค้นพบดาวยูเรนัสของ Herschel ก็คือ ธาตุลำดับที่ 93 ได้ชื่อว่า เนปจูเนียม ตามชื่อของดาวเนปจูน (Neptune ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 และเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งท้องทะเลของชาวโรมัน) และธาตุลำดับที่ 94 ก็ได้ชื่อว่า พลูโทเนียม ตามชื่อของดาวพลูโต (Pluto ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 และเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งโลกบาดาลของกรีก)

ธาตุทั้งสามธาตุที่กล่าวถึงนี้ เป็นธาตุกัมมันตรังสีทั้งสิ้น

 

แปลจาก Uranium ของ Isaac Asimov