สารอันตรายจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสู่อาหาร

สุรศักดิ์ สัจจบุตร และเสาวพงศ์ เจริญ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผู้คนในสมัยก่อนยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของบรรจุภัณฑ์ของอาหารกันมากนัก เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งอาหาร การซื้อขายก็เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรในโลกได้มีเพิ่มมากขึ้น มีความต้องการอาหารที่มากขึ้นและมีการขนส่งเป็นระยะทาง ไกล ๆ จึงต้องมีการพัฒนากระบวนการถนอมอาหารควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาการด้านบรรจุภัณฑ์นั้นมีผลทำให้อายุการเก็บรักษาของอาหารนานขึ้น ทำให้มีการสูญเสียน้อยลง และมีอาหารบริโภคนอกฤดูกาลมากขึ้น

บรรจุภัณฑ์ (package) หมายถึง ภาชนะหรือวัสดุที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ โดยมีจุดประสงค์หลักคือ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ อันเนื่องมาจากอากาศ ความชื้น แสง แรงกระแทก เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์มากขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์มีประโยชน์มากขึ้น นอกเหนือจากการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว เช่น ยืดอายุการเก็บรักษาของอาหาร เพิ่มความสะดวกในการใช้งานหรือขนส่ง ให้รายละเอียดของข้อมูลสินค้า และในปัจจุบันนี้ บรรจุภัณฑ์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการขาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านรูปทรง หรือลวดลาย สีสันของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นการดึงดูดผู้บริโภค และเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการ โดยชนิดของบรรจุภัณฑ์นั้นมีหลายประเภท เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ และวัสดุที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติก เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีให้เลือกหลายรูปแบบมีทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา ทนต่อความชื้น มีความทนทานและมีความยืดหยุ่นในการผลิตสูง แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึง ในการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกกับอาหารคือ การเป็นพิษ เพราะเนื่องจากเกิดกระบวนการเคลื่อนย้ายอนุภาค หรือโมเลกุล (migration) ของพลาสติกไปสู่อาหาร ซึ่งสารที่เกิดกระบวนการเคลื่อนย้ายอนุภาค หรือโมเลกุลไปสู่อาหารนั้น นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ยังส่งผลเสียต่อกลิ่นรสและการยอมรับของอาหารได้ ในหลาย ๆ ประเทศ ได้มีการออกกฎหมายตรวจสอบปริมาณของสารที่ตกค้างในอาหาร ซึ่งเกิดจากกระบวนการเคลื่อนย้ายอนุภาค หรือโมเลกุลพลาสติก ที่ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ในออสเตรเลีย สหภาพยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในประเทศไทย ในสหภาพยุโรป ได้กำหนดระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับวัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ต้องสัมผัสกับอาหารว่า ให้มีการเคลื่อนย้ายอนุภาค หรือโมเลกุลของพลาสติกโดยรวม สู่อาหารได้ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อตารางเดซิเมตร

สารที่เกิดการเคลื่อนย้ายอนุภาคหรือโมเลกุลจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ไวนิลคลอไรด์ (vinyl chloride) หรือ คลอโรอีทีน (chloroethene) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการผลิตพลาสติกชนิดพอลิไวนิลคลอไรด์ (polyvinyl chloride) หรือ PVC ในอุณหภูมิปกตินั้นไวนิลคลอไรด์ มีสถานะเป็นแก๊ส ไม่มีสี มีกลิ่นแบบ sickly sweet มีความเป็นพิษ คือ มีฤทธิ์ไปกดระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดคล้ายกับพิษจากแอลกอฮอล์ โดยมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และสูญเสียการควบคุมร่างกาย ในรายที่มีอาการหนักจะเกิดประสาทหลอน หมดสติ และเสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลวและมีรายงานว่าสามารถเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย
  • อะครีโลไนทริล (acrylonitrile) เป็นสารที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เป็นของเหลวมีกลิ่นฉุน โดยมากจะมีสีเหลือง อะครีโลไนทริลมีความสามารถในการจุดติดไฟสูงและมีความเป็นพิษ และพบว่าอะครีโลไนทริลสามารถเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้
vinyl chloride
vinylidene
  • ไวนิลิดีนคลอไรด์ (vinylidene chloride) หรือ 1,1-Dichloroethene มีความสามารถในการจุดติดไฟสูง เป็นของเหลวไม่มีสี มีกลิ่นแรง ไม่สามารถละลายน้ำได้แต่สามารถละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ ไวนิลิดีนคลอไรด์จะใช้ร่วมกับไวนิลคลอไรด์และอะครีโลไนทริลในการผลิตพลาสติก ไวนิลิดีนคลอไรด์มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางของมนุษย์ เช่น มีอาการ ซึม มึน กระตุก ชัก และอาจสลบได้ถ้าได้รับในปริมาณสูง
  • สไตรีน (styrene) หรือ ไวนิลเบนซีน (vinyl benzene) ในสภาวะปกติเป็นของเหลวและสามารถระเหยได้ง่าย มีกลิ่นแบบ sweet odour สไตรีนเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพอลิสไตรีน (polystyrene) โดยสไตรีนนั้นก่อให้เกิดการระคายเคืองและมีความเป็นพิษทั้งยังสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
  • สารพลาสติไซเซอร์ (plasticizer) เป็นสารที่เติมลงในพลาสติก เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพลาสติก โดยชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ พะทาเลท (phthalates) ซึ่งมีรายงานถึงความเป็นพิษของสารชนิดนี้พบว่า ทำให้ระดับการต้านทานอินซูลิน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับโรคเบาหวานมีระดับสูง ในกลุ่มคนที่มีระดับของพะทาเลทอยู่สูง และพบว่าสามารถทำลายตับ ไต ปอดของหนูทดลองได้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็ก และสำหรับในสตรีมีครรภ์ทำให้มีการตั้งครรภ์นานกว่าปกติ
styrene
phthalate

มีการใช้สารพลาสติไซเซอร์ชนิดที่ปลอดภัย (safer plasticizer) ทดแทนสารพะทาเลทได้ในบางผลิตภัณฑ์ โดยสารพลาสติไซเซอร์ที่ปลอดภัย ได้แก่ สารประกอบซิเทรต (citrate compounds) เช่น ไทรเอทิลซิเทรต (triethyl citrate) อะซีทิลไทรเอทิลซิเทรต (acetyl triethyl citrate) อะซีทิลไทรบิวทิลซิเทรต (acetyl tributyl citrate) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของโมเลกุลจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปสู่อาหาร ไว้ในท้ายประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ดังนี้

โมเลกุลในบรรจุภัณฑ์พลาสติก
ปริมาณสูงสุดไม่เกิน (มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
   ไวนิลคลอไรด ในพอลิไวนิลคลอไรด์
1
   ไวนิลิดีนคลอไรด์ ในพอลิไวนิลิดีนคลอไรด์
6
   สไตรีน ในพอลิสไตรีน
2,000

ในปัจจุบันนี้จึงได้มีการคิดค้นสารชนิดอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทนการใช้ฟิล์มพลาสติก เช่น ฟิล์มจากไคโตซาน ฟิล์มจากโปรตีน ฟิล์มจากแป้ง ซึ่งฟิล์มเหล่านี้สามารถรับประทานได้ ย่อยสลายได้ง่าย และมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติก แต่เนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูงและคุณสมบัติบางประการที่มีในฟิล์มพลาสติกแต่ฟิล์มเหล่านี้ไม่มี จึงทำให้ฟิล์มเหล่านี้ไม่แพร่หลายมากนัก

เอกสารอ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2548. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก
  • Castle, L. 2000. An introduction to chemical migration from food contact materials. Int. Food Safety News 9 (9) 2-4.
  • Piringer, O.and Baner, A. 2000. Plastic packaging materials for food. Wiley-VCH, Weinheim.
  • Regulation (EC) No. 1935/2004 of the European Parliament and of the Council of 27 October 2004 on materials and articles intended to come into contact with food.