การวิเคราะห์ปริมาณธาตุในดินตะกอนจากทะเลน้อย จังหวัดพัทลุงโดยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์

สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ อาภรณ์ บุษมงคล สุมาลี นิลพฤกษ์ และวุฒิชัย จันทรโชติ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่เหนือบริเวณทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ควบคุมภายใต้สนธิสัญญา Ramsar ในปัจจุบัน ทะเลน้อยมีความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว จากผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปว่า น้ำจากพรุควนเคร็งและน้ำเสียจากชุมชนที่ไหลลงสู่ทะเลน้อยในปริมาณที่สูง ส่งผลกระทบต่อสถานภาพและพลวัตของธาตุอาหารและสารอินทรีย์ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่และปริมาณ ดังนั้น สทน. จึงได้ดำเนินงานวิจัยร่วมกับคณะผู้วิจัยจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในการศึกษาคุณสมบัติของดินตะกอนบริเวณทะเลน้อย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ทีมนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ของ สทน. และ เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เก็บดินตะกอนจากทะเลน้อยและบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 6 ตำแหน่ง ครอบคลุมบริเวณทั่วทะเลน้อย โดยเก็บดินตะกอนที่ความลึกประมาณ 1 เมตร และตัดแบ่งออกเป็นช่วงทุก ๆ 2 ซม. และนำไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุโดยเทคนิค NAA โดยนำตัวอย่างที่อบแห้งและบดละเอียด มาทำปฏิกิริยากับอนุภาคนิวตรอนที่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของไทย แล้วนำมาวัดรังสีแกมมาของไอโซโทปรังสีที่เกิดขึ้น

จากการทดลองสามารถจำแนกธาตุที่ได้เป็นสองกลุ่ม ได้แก่ ธาตุหลัก คือ Al Na K และ Fe และธาตุปริมาณน้อยได้แก่ As Br Sc Ce Co Cr Eu Hf La Mn Sb Sm Th Ti V และ U นอกจากนั้นยังพบว่าปริมาณของ Mn Al และ Fe มีค่าเปลี่ยนแปลงตามความลึก ส่วนธาตุอื่น ๆ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนตามความลึกที่เปลี่ยนไป ส่วนปริมาณธาตุที่พบจากตำแหน่งที่เก็บตัวอย่างต่าง ๆ กันจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า Mn และ As ที่พบจะมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานในดินสำหรับทำการเกษตร (Department of Pollution Control, Ministerial Decree No 25, BE 2547)

การวิจัยนี้แสดงว่า เทคนิคเชิงนิวเคลียร์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องสะดวกและรวดเร็ว

ทะเลน้อยในอดีต และปัจจุบัน

 

 

ทีมนักวิจัยเก็บตัวอย่างดินตะกอนทะเลน้อย
 

 

ตัวอย่าง ผลการทดลองแสดงปริมาณสารหนู (As) ในดินตะกอนจากบริเวณต่าง ๆ และที่ระดับความลึกต่าง ๆ เปรียบเทียบแล้วพบว่า ทุกตัวอย่างมีค่าสูงกว่าค่าสารหนูมาตรฐาน ของดินสำหรับทำการเกษตร (สีแดง) ของกรมควบคุมมลพิษ พ.ศ. 2547