ทุเรียน (Durian)

งามนิจ เสริมเกียรติพงศ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดอกทุเรียนตูม
ดอกทุเรียนบาน
ผลทุเรียน

ทุเรียน (Durian) ชื่อวิทยาศาสตร์ Durio zibethinus , Family: Bombaceacea

ความสำคัญ
ในประเทศไทยมีทุเรียน ๔ ชนิด คือ ทุเรียนปลูก ทุเรียนดอน ทุเรียนนก และทุเรียนป่า  ต้นทุเรียนเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน เกาะบอร์เนียวเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของพืชสกุลทุเรียน และแพร่ขยายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย

ทุเรียนปลูก เป็นทุเรียนเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกเชิงการค้าแพร่หลายในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ และในบางส่วนของออสเตรเลีย แต่ละถิ่นเรียกชื่อทุเรียนต่างกัน แต่ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ดูเรียน (durian) ในภาษามลายู อินโดนีเซีย ภาษาอังกฤษ และทุเรียนในภาษาไทย  ทุเรียนเป็นไม้ผลที่มีขนาดผลใหญ่ มีหนามแหลม รสชาติหวานมัน ได้ชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้ (king of the fruits) มีราคาแพง  เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยม มีตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันทุเรียนเป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมของคนทั่วโลก ในปี พ. ศ. 2541 พบว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 860,269 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 607,009 ไร่ ได้ผลผลิตรวมประมาณ 7-9.5 แสนตัน/ปี ในปี พ.ศ. 2546 มีการส่งออกในรูปผลผลิตสดและแช่แข็ง 90,882 ตัน และผลิตภัณฑ์แปรรูป 75,735 ตัน

     
ทุเรียนสุกผง

ประวัติของทุเรียนในประเทศไทย
เมื่อครั้ง เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubre) หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศส อัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๒๓๐ เขาได้เขียนบันทึกเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า  “ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้าไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดู ๆ ไปก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่ายิ่งมีเมล็ดในน้อยยิ่งเป็นทูลเรียนดี    อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่ง ๆ ไม่เคยปรากฏว่ามีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย”
จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน  มีรายงานกล่าวถึงการนำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมาปลูกใน กรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี แล้วขยายไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดอุตรดิตถ์ นครพนม ชุมพร ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด

การขยายพันธุ์ทุเรียน
ในระยะต้น ใช้วิธีเพาะเมล็ดไปปลูก ต่อมาพัฒนาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน แต่เนื่องจากกิ่งตอนหาได้ยาก ชาวสวนส่วนใหญ่จึงปลูกด้วยเมล็ด เกิดเป็นทุเรียนพันธุ์ลูกผสมตามธรรมชาติมากมาย มีเอกสารการเกษตรรายงานพันธุ์ต่าง ๆ ของทุเรียนไว้ว่ามีจำนวนมากถึง ๒๒๗ พันธุ์

พันธุ์ทุเรียน
พันธุ์ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทย จำแนกได้เป็น ๖ กลุ่ม ตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และรูปร่างของหนามผล คือ
๑. กลุ่มกบ จำแนกพันธุ์ได้ ๔๖ พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว
๒. กลุ่มลวง จำแนกพันธุ์ได้ ๑๒ พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว
๓. กลุ่มก้านยาว จำแนกพันธุ์ได้ ๘ พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
๔. กลุ่มกำปั่น จำแนกพันธุ์ได้ ๑๓ พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง
๕. กลุ่มทองย้อย จำแนกพันธุ์ได้ ๑๔ พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่

๖. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง ๘๑ พันธุ์

พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุม

คุณค่าทางโภชนาการ        
ทุเรียน นอกจากจะมีรสชาติอร่อยมากแล้วยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งในด้านไขมันที่ให้พลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายมาก  ในปริมาณเนื้อทุเรียน 100 กรัม สำหรับพันธุ์ก้านยาวให้พลังงานมากที่สุด คือ 181 กิโลแคลอรี ส่วนพันธุ์หมอนทองซึ่งเป็นที่นิยมของคนส่วนใหญ่จะให้พลังงาน 156 กิโลแคลอรี  เนื้อทุเรียนให้ธาตุอาหารหลายชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส โพแทสเซียม และกำมะถัน

ประโยชน์ของทุเรียนตามแพทย์แผนไทย

     

เนื้อสีเหลือง  รสหวานร้อน ทำให้เกิดความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝี-หนอง แห้ง  เนื้อทุเรียนมีฤทธิ์ขับพยาธิ

เปลือกหนาม  รสเฝื่อน สับแช่ในน้ำปูนใสใช้ชะล้างแผลที่เกิดจากน้ำเหลืองเสีย แผลพุพอง เผาทำถ่าน บดจนเป็นผง คลุกในน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันงา ลดความบวมพองจากคางทูม และเผาเอาควันไล่ยุงและแมลง

ใบทุเรียน  รสเย็นและเฝื่อน ใช้ต้มน้ำอาบแก้ไข้ แก้ดีซ่านและเป็นส่วนผสมในยาขับพยาธิ

รากจากต้น  ตัดเป็นข้อ ๆ ต้มให้เดือด ดื่มบรรเทาอาการไข้และรักษาอาการท้องร่วง

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานทุเรียน เพราะการรับประทานมากเกินไปก็จะเป็นผลเสียและเป็นโทษแก่ร่างกาย ขอย้ำว่า ถ้ารับประทานในปริมาณที่พอเหมาะจะเพิ่มรสชาติและความสุขให้กับชีวิต

การเลือกซื้อทุเรียน   ควรดูว่าทุเรียนผลใดแก่จัด โดยดูได้จากก้านผลแข็งสีเข้ม ปลายหนามแห้ง เปราะ สีน้ำตาลเข้ม และมีร่องหนามห่าง รอยแยกระหว่างพูเห็นชัด หากลองเคาะดู เสียงจะดังหลวม ๆ โปร่ง ๆ หากตัดขั้วผลออกจะมีน้ำใส ๆ ซึ่งมีรสหวาน ที่สังเกตง่ายมากคือ ทุเรียนที่ผลสุกรับประทานได้จะมีกลิ่นหอมแรงขึ้นตามลำดับ  โดยทั่วไป ทุเรียนดีจะมีลักษณะเนื้อมาก เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้ม เกาะกันเป็นพู คงรูป ไม่เละ ถึงสุกงอมก็ไม่แฉะ กลิ่นน้อย เมล็ดลีบ รสหวานอร่อย

??++**ทุเรียน กินอย่างไรไม่อ้วน** ++??

คงสงสัยกันสิคะว่า  กินกันอย่างไรล่ะที่ไม่ให้อ้วน
ตำราไทยบอกไว้ให้กินเป็นยาถ่ายพยาธิปฏิบัติไม่ยากเลยค่ะ  ง่าย ๆ เพียงแค่ตื่นนอนตอนเช้า ๆ ยามรุ่งอรุณ ก็ราว ๆ ประมาณ 5.00 น. หลังจากล้างหน้า แปรงฟัน เรียบร้อย เริ่มกินทุเรียนได้ทันที กินพอประมาณ อาจสักครึ่งลูกย่อม ๆ หรืออาจมาก-น้อยกว่านั้น ตามน้ำหนัก ไม่ใช่กินเพื่ออิ่ม แต่กินเป็นยา แล้วดื่มน้ำ ควรกินสองวันติดต่อกัน และงดอาหารในทั้งสองเช้านั้น  ความร้อนในสารกำมะถันธรรมชาติ และกากใยจากพูทุเรียน จะออกฤทธิ์ชำระล้างขยะในลำไส้ออกได้อย่างเกลี้ยงเกลา รวมทั้งเป็นยาถ่ายพยาธิต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นยาถ่ายในผู้ป่วยน้ำเหลืองเสีย ซึ่งมักเกิดแผลจากแมลงกัดอยู่เสมอ

การขจัดกลิ่นทุเรียน
ทุเรียนเป็นของชอบของทุกคน แต่ปัญหาเรื่องกลิ่นของทุเรียนเป็นปัญหาใหญ่ของทุกคนเหมือนกัน วันนี้จะแนะนำวิธีการกำจัดกลิ่นของทุเรียนให้หมดไปโดยที่ไม่ต้องไปพึ่งสารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น คือเมื่อท่านรับประทานทุเรียนเสร็จแล้วให้เอาน้ำใส่ในเปลือกทุเรียนที่ท่านรับประทาน แล้วดื่มน้ำในเปลือกทุเรียนนั้น แล้วใช้ล้างมือ บ้วนปาก กลิ่นปากของท่านจะไม่มีกลิ่นของทุเรียนอีกเลย ลมในท้องที่ระบายออกมาทางปากก็จะไม่มีกลิ่นทุเรียน ท่านไม่ต้องกังวลกับกลิ่นทุเรียนอีกต่อไป
ถ้าหากท่านต้องการนำทุเรียนทั้งผลไปฝากญาติพี่น้อง โดยต้องเดินทางด้วยรถปรับอากาศ กลิ่นก็จะเข้าไปในห้องปรับอากาศ รบกวนคนอื่น วิธีแก้ก็คือ ให้ท่านใช้มีดปาดหนามของทุเรียนออกให้หมด จนเหลือทุเรียนลูกกลม ๆ เหมือนลูกฟุตบอล กลิ่นของทุเรียนก็จะหมดไป

เอกสารอ้างอิง

  1.  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  2548.  มหัศจรรย์ผลไม้ไทย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551  จาก: http://www.moac.go.th/builder/fruit/index.php?page=462&clicksub=462
  2. สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. แมลงศัตรูที่สำคัญของไม้ผล และการบริหาร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จาก: http://www.sut.ac.th/etexts/Agri/insectfinal2 / Insects%20web/chapter4_duriun.htm
  3. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 28.   ทุเรียน.   สืบค้นเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551  จาก:
    http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK28/chapter4/t28-4-l1.htm#sect1a
  4. ทุเรียนกินอย่างไรไม่อ้วน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551  จาก : http://www.bloggang.com/ viewdiary.php?id=icebridy&group=39&month=04-2007&date=29&gblog=3
  5. Come to Read go to Lead.  16 กุมภาพันธ์ 2007.  การขจัดกลิ่นทุเรียน. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 จาก: http://thapo.blogspot.com/2007/02/blog-post.html