กินอยู่อย่างไรจึงปลอดภัยและทันโลก

โกวิทย์ นุชประมูล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พูดถึงเรื่องความปลอดภัย ผู้อ่านทุกท่านคงทราบ คุ้นเคย และเข้าใจความหมายกันดีอยู่แล้ว เพราะมีการพูดถึงกันมากในชีวิตประจำวันของเราในเรื่องต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ และสิ่งของต่าง ๆ เช่น เรื่องความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอ (GMO) ความปลอดภัยของคลังแสง ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เว้นแม้กระทั่งความปลอดภัยของอาหารการกิน มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้คงหนีไม่พ้น ก.ไก่ 3 ตัว คือ กิน กาม และเกียรติ เมื่อหนีไม่พ้นแล้ว ก็ต้องอยู่กับมัน คำถามก็คือว่า จะอยู่กับมันอย่างไรจึงไม่ทุกข์และปลอดภัย คงไม่มีใครปฏิเสธนะครับว่าไม่เคยได้ยินข่าวเรื่องอาหารเป็นพิษ อาหารมีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในการเกษตร รวมทั้งอาหารที่มีเชื้อโรค และเช่นกันคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง มาก่อน ก็คงหายาก กินอย่างไรครับจึงปลอดภัย? คำแนะนำก็คือว่า ต้องพิจารณาให้ดีก่อนกิน กินอย่างมีสติ อย่ากินเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อความเพลิดเพลิน ต้องรู้จักเลือกกิน และกินอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ รวมทั้งต้องกินให้พอดีกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และในแต่ละวัยด้วย ถ้าท่านทำได้แล้วรับรองว่าน่าจะหมดทุกข์ หมดโรค และหมดภัยค่อนข้างจะแน่นอน เมื่อรู้จักเลือกกินหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ากินเป็นแล้วก็ควรรู้ถึงวิธีเตรียมก่อนกิน และวิธีเก็บไว้กินในวันข้างหน้าด้วยจะได้ปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้ครับ
1.
สร้างนิสัยรักการล้างมือ
ล้างมือทุกครั้งก่อนเข้าครัวหรือสัมผัสกับอาหาร ล้างหลาย ๆ ครั้งหลังจากเข้าห้องส้วมหรืออุ้มเด็กทารก หรือล้างทุกครั้งเมื่อเสร็จจากการหั่นปลา หมู ไก่ และของสดทั้งหลาย ถ้าเป็นแผลที่มือก็ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์หรือสวมถุงมือ เพื่อป้องกันการแลกเปลี่ยนเชื้อระหว่างมือคุณกับอาหาร และจำไว้ด้วยว่าสัตว์เลี้ยงที่น่ารักน่าเอ็นดูทั้งหลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคสู่อาหารผ่านมือของคุณ อย่าลืมล้างมืออีกครั้งนะครับ
2.
ใช้เฉพาะน้ำสะอาดหรือน้ำบริสุทธิ์เท่านั้น
น้ำสำหรับใช้เตรียมอาหารควรเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาดเทียบได้กับน้ำที่ใช้ดื่ม ถ้าไม่แน่ใจให้ต้มฆ่าเชื้อก่อนที่จะนำมาใช้เตรียมอาหารหรือทำน้ำแข็งสำหรับบริโภค น้ำสำหรับล้างผักและผลไม้ควรเป็นน้ำสะอาดเช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้น้ำจากแม่น้ำลำคลองเด็ดขาดเพราะไม่ปลอดภัยและอาจมีพยาธิและเชื้อโรค
 
3.
หลีกเลี่ยงการใช้เขียงและมีดด้ามเดียวกัน
อาหารที่ปรุงสุกแล้ว เช่น ไก่ทอด หมูแดง หมูย่าง เนื้อย่าง หรือผักที่ล้างสะอาดแล้ว เช่น ต้นหอม ผักชี อาจไม่ปลอดภัยถ้านำมาหั่นบนเขียงที่ใช้หั่นปลาสด เนื้อสด หรือไก่สด ควรแยกเขียงที่ใช้กับอาหารสุกและอาหารดิบเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอาหารดิบ
4.
ปรุงอาหารให้สุกพอดีและทั่วถึง
เนื้อ นม ไข่ และอาหารทะเลที่ยังไม่สุกหรือผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อ เป็นแหล่งของแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อซาลโมเนลลา การฆ่าเชื้อต้องใช้ความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส และทุกส่วนของอาหารต้องได้รับความร้อนที่อุณหภูมิดังกล่าว อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบทั้งหลายล้วนแต่ไม่ปลอดภัย คนไทยหลายล้านคนที่ชื่นชอบอาหารกึ่งสุก กึ่งดิบ กำลังเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้
5.
เก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วในที่ที่ปลอดภัย
อาหารที่เตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนบริโภค และอาหารที่เหลือจากการบริโภค ควรเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส หรือ เก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า เพื่อไม่ให้แบคทีเรียมาแย่งกินและแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนจนถึงระดับที่ทำให้อาหารไม่ปลอดภัย
6.
ป้องกันอันตรายจากแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน
อาหารพร้อมบริโภคทั้งหลายควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด หรือห่อให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันแมลงวันตอม และเก็บใส่ตู้ที่ปิดสนิท สัตว์เลื้อยคลาน เช่น มด จิ้งจก หนู และแมว นอกจากจะช่วยกินอาหารของคุณแล้วยังอาจนำเชื้อโรคมาฝากด้วยและทำให้อาหารนั้นไม่ปลอดภัย
7.
อุ่นอาหารที่เก็บไว้ทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค
อาหารที่เก็บรักษาตามอุณหภูมิที่แนะนำไว้ แม้ว่าแบคทีเรียจะขยายพันธุ์ไม่ได้แต่มันยังไม่ตาย เพื่อความปลอดภัยจึงต้องฆ่ามันด้วยการอุ่นก่อนอิ่ม
8.
บริโภคทันทีอย่าทิ้งไว้
อาหารที่ปรุงสุกแล้วถ้าตั้งทิ้งไว้อุณหภูมิจะค่อย ๆ ลดลง เปิดโอกาสให้แบคทีเรียแบ่งเซลล์แบบทวีคูณได้ ยิ่งทิ้งไว้นานจำนวนแบคทีเรียยิ่งมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งสูง ดังนั้น ต้องรีบบริโภคทันทีและอย่างมีสติด้วยนะครับ ถ้ายังไม่บริโภคทันทีก็ไม่ควรเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วนานกว่าสองชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง

คำแนะนำทั้ง 8 ข้อข้างต้นนั้น มีความสำคัญทุกข้อและข้อที่สำคัญมากคือข้อที่ 9 ซึ่งเป็นข้อสุดท้าย ถ้าใครไม่ได้อ่านถึงตรงนี้ก็จะพลาดโอกาสของการรับรู้และจะหาข้อที่ 9 ไม่พบ ข้อที่สำคัญมากก็คือ ต้องเลือกอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตอย่างปลอดภัย ผักและผลไม้สดบางชนิด สามารถนำมาบริโภคได้ทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธี แต่อาหารหลายชนิด เช่น นม เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล จำเป็นต้องผ่านกรรมวิธีก่อน จึงจะบริโภคได้อย่างปลอดภัย ถ้าคุณมีโอกาสเลือก อย่าลืมเลือกอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการฉายรังสี เช่น แหนม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อก่อโรค เช่น ซาลโมเนลลา โดยยังคงสภาพความสดตามธรรมชาติ บริโภคได้ทันทีโดยไม่ต้องอุ่นตามข้อ 7  นอกจากแหนมฉายรังสีซึ่งขายดีมานานกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบัน เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส และสมุนไพรฉายรังสี กำลังมาแรงแซงหน้าเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยปริมาณการฉายรังสีปีละกว่าล้านกิโลกรัม  นอกจากนั้น ก็มีผลไม้ฉายรังสี เช่น ลำไย มังคุด และมะม่วง ซึ่งผ่านกรรมวิธีการฉายรังสีตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา  สำหรับอาหารฉายรังสีที่ผลิตในต่างประเทศได้แก่ เนื้อไก่ กุ้ง และขากบแช่แข็ง เนื้อวัวบด แอปเปิล มะละกอ สตรอเบอร์รี มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ ข้าว ผักแห้ง และเครื่องเทศชนิดต่าง ๆ

เมื่อรู้จักวิธีกินอย่างปลอดภัยแล้ว ก็ควรรู้จักประมาณในการกินด้วย จงอย่าเป็นทาสของลิ้น อย่าติดในรสชาติอาหาร อย่ากินมากเกินจำเป็นเพราะกินมากแล้วต้องจ่ายมาก อันรสชาติของอาหารนั้น เรารู้สึกอร่อยได้เพียงปลายลิ้นสัมผัสเท่านั้น พอลงสู่กระเพาะแล้วก็หมดรส แม้ว่าอาหารนั้นจะประณีตและมีราคาสูงเท่าใดก็ตาม เมื่อถ่ายออกมาแล้วก็มีค่าไม่ต่างกัน

คราวนี้หันมาทางด้านความเป็นอยู่กันบ้าง คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้จำเป็นต้องอยู่กันเป็นครอบครัว หรือเป็นหมู่คณะ ต้องพึ่งพาและช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกันและกันจึงจะอยู่อย่างปกติสุข ดังนั้น ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้เป็นคนเสียสละ มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อรู้จักให้แล้ว ก็ควรรู้จักรักษาใจตนเองให้สะอาดและบริสุทธิ์ด้วย เมื่อใจบริสุทธิ์แล้วก็จะง่ายต่อการเข้าถึงและรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและสังคมโลกเป็นอย่างดี คือรู้เท่าและรู้ทันโลกตามความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การเกิดนั้นเราคงห้ามไม่ได้แต่อาจชะลอได้ ตัวอย่างเช่นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทุกคนที่เกิดมาต้องเป็นโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะถูกคุกคามด้วยโรคยอดนิยม เช่น มะเร็ง หัวใจ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมองตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้เราสามารถป้องกัน หรือชะลอการเกิดได้ ถ้าเราเอาใจใส่ดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการกินอาหารให้พอเพียง และหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบทั้งห้าหมู่ ทั้งนี้ต้องไม่กินอาหารที่มีรสจัด เช่น เค็มจัด หวานจัด และมันจัด โดยหันมากินข้าวกล้องและปลาเป็นหลัก กินผลไม้และผักเป็นยา เสริมความแข็งแรงของร่างกายด้วยการว่ายน้ำ เดินเร็วหรือถีบจักรยานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยวันละสามสิบนาที ลองดูซิครับ ท่านทำได้ ทำเสียแต่เดี๋ยวนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้างที่ท่านรัก

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม www.who.int/foodsafety/consumer/5keys/en/index.html