อะตอมเพื่อนของเรา (5)
บทที่ 4 ความลับของสสาร

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            กาลิเลโอผู้สถาปนาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของเรา ได้สอนเราว่าทำอย่างไรธรรมชาติจึงจะยอมเผยความลับของเธอออกมา คำถามอันลึกซึ้งของเขาคือการทดลอง และธรรมชาติก็ให้คำตอบออกมา วิถีใหม่คือการวิจัยนี้ยังรวมเอา “ทฤษฎี” อันเป็นวิธีแสวงหาผลลัพธ์ด้วยการตรงเข้าไปที่เหตุที่ผล จากนั้นนับแต่ยุคของกาลิเลโอเป็นต้นมา วิทยาศาสตร์ก็ได้ใช้ทฤษฎีและการทดลองเป็นเครื่องมือคู่กันอย่างมีพลานุภาพในการแก้ปัญหายาก ๆ ทฤษฎีและการทดลองก็กลายเป็นประดุจแขนสองข้างของคีม เพราะด้วยแขนข้างเดียวคีมก็หมดประโยชน์
            เรื่องราวของอะตอมก็มีเนื้อหาที่เต็มไปด้วยทฤษฎีและการทดลอง อาจเปรียบได้กับถนนสายยาวเหยียดและแสนคดเคี้ยวกว่าที่จะนำไปสู่การค้นพบอะตอม หากเป็นชาวประมงก็ต้องเหวี่ยงแหของเขาออกไปหลายครั้งหลายหนจนนับไม่ถ้วน...
            ในตอนต้นนั้นยังไม่มีการทดลองที่จะตรวจหาอะตอม นักวิทยาศาสตร์ไม่อาจจะนำโลหะหรือไม้มาชิ้นหนึ่งแล้วตัดแบ่งให้เล็กลง ๆ ไปได้เรื่อย ๆ จนแยกเอาอะตอมออกมาได้ อะตอมมีขนาดเล็กมากซึ่งมันจะแหมะอยู่ตรงนั้นตลอดกาลเกินกว่ามืออันใหญ่โตเทอะทะของคนจะแตะเข้าไปถึง และยังอยู่เกินกว่าสายตาอันมีคุณภาพต่ำของมนุษย์จะมองได้ถึ งแม้จะใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายดีที่สุดเข้าช่วยแล้วก็เถอะ ดังนั้น เมื่ออะตอมโผล่ขึ้นมาเป็นครั้งที่ ๒ ในระหว่างประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ มันจึงไม่ได้ปรากฏจากผลลัพธ์ของการศึกษาทดลองอย่างเดียวกับที่ปรากฏในครั้งแรก เป็นแต่เพียงมีใครสักคนเกิดคิดถึงอะตอมขึ้นมา โดยผ่านเข้ามาในฉากของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในลักษณะของทฤษฎีล้วน ๆ

 

            การฟื้นคืนของทฤษฎีอะตอมขึ้นมานี้ เราเป็นหนี้บุคคลหนึ่งซึ่งก็เหมือนกับดีโมคริตุสคือ ดูจะเป็นนักปรัชญามากกว่าที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาคือชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ปีแอร์ กาสซองดี ที่เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1592 และเมื่อมีอายุได้เพียง 16 ปีก็ได้เป็นครูสอนวิชาวาทศาสตร์ที่เมืองดีญอันเป็นบ้านเกิด แล้วพออายุได้ 19 ขวบเท่านั้น เขาก็ได้รับข้อเสนอให้ไปสอนปรัชญาที่เมืองเปทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส กาสซองดีเห็นขัดแย้งกับอาริสโตเติลเช่นเดียวกับกาลิเลโอ และตอนอายุยี่สิบต้น ๆ เขาก็ได้เขียนวาทนิพนธ์อันแหลมคมเผยเหตุผลวิบัติในปรัชญาของยอดบุรุษยุคโบราณอย่างอาริสโตเติล ต้นฉบับที่เขียนขึ้นมีหลายตอนเต็มไปด้วยการถากถางจนเพื่อนฝูงแนะว่าให้เขียนให้เบาลง เพราะว่าอาริสโตเติลยังเป็นที่นับถืออย่างสูงต่อปัญญาชนทั้งหลายที่ทรงอิทธิพลที่สุดอยู่ในยุคนั้น ในที่สุดผลงานของกาสซองดีก็ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1658 หลังจากเขาถึงแก่กรรมได้ 3 ปีการเขียนอย่างไม่ให้ความยอมรับนับถือของเขาจึงไม่เป็นอันตรายต่อตัวเขา

 
 
www.uh.edu

            ทฤษฎีอะตอมของกาสซองดีไม่ได้แตกต่างไปจากของดีโมคริตุสมากมายนัก บางทีกาสซองดีอาจได้ความรู้มาจากแนวคิดของนักคิดโบราณเองก็ได้ เพียงแต่ได้เพิ่มเติมความคิดของตนเองลงไปบ้าง เขาคิดว่าอะตอมของสิ่งที่เป็นของแข็ง ต้องมีตะขอไว้เกาะเกี่ยวประสานกันเป็นโครงตาข่ายแข็งแรง เช่นเดียวกับพื้นเตียงสปริงโลหะ เช่นนี้เองที่กาสซองดีคิดว่าวัสดุของแข็งอย่างโลหะและหินจึงมีความเหนียวและความแข็งได้ เขาเปลืองสมองไปมากกับปัญหาที่ว่าอะตอมเกาะกันได้อย่างไร ดังปรากฏในข้อเขียนแห่งหนึ่งของเขาที่เขาถึงกับกล่าวเอาไว้ว่า มีแรงกระทำระหว่างอะตอมทั้งหมดที่ทำให้พวกมันเกาะติดกันเหมือนกับก้อนแม่เหล็กเล็ก ๆ จำนวนมาก

 
 
http://abyss.uoregon.edu/

            ด้วยความคิดว่าด้วยแรงดูดแบบ “แม่เหล็ก” ระหว่างอะตอมนี้ ถือได้ว่ากาสซองดีได้หันเหเข้าหาทฤษฎีอย่างฟิสิกส์ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเซอร์ไอแซก นิวตันผู้ค้นพบกฎความโน้มถ่วง จึงได้ให้ความสนใจกับหนังสือที่กาสซองดีเขียนขึ้นเป็นอย่างมาก และนิวตันก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่าอะตอมมีอยู่จริง ทั้งยังมีความคิดอีกว่า รังสีแสงประกอบขึ้นจากกระแสเคลื่อนที่เร็วของอนุภาคที่เล็กอย่างที่สุด ซึ่งไหลออกไปทุกทิศทุกทาง จากต้นกำเนิดแสงอย่างเปลวเทียนไข สำหรับนิวตันแล้ว สรรพสิ่ง-ไม่ว่าสิ่งที่เป็นของแข็ง ของเหลว แก๊ส และแม้แต่แสงที่จับต้องไม่ได้-ล้วนประกอบขึ้นจากอะตอม ดังที่ครั้งหนึ่งเขาเขียนไว้ว่า
“สำหรับฉันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า พระเจ้าได้สร้าง “สสาร” ขึ้นครั้งแรกเป็นอนุภาคที่เคลื่อนที่ได้ มีมวลมาก แข็ง อะไรก็ทะลุทะลวงมันไปไม่ได้ คือประกอบขึ้นเป็นของแข็งที่มีขนาดและรูปร่างอย่างนั้น และพรั่งพร้อมด้วยสมบัติอื่น ๆ อีก และด้วยสัดส่วนอย่างนั้น จึงถึงที่สุดการสร้างสรรค์ของพระองค์ นี่เองที่ “อนุภาคดั้งเดิม” ก็เป็นของแข็ง ที่เมื่อมารวมกันเข้าอย่างหลวม ๆ เป็นวัตถุอื่น ๆ ที่มีแต่รูพรุน จึงไม่แข็งเท่าอนุภาคดั้งเดิมอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะว่ามันแข็งมาก จนไม่เคยสึกกร่อนหรือแตกเป็นเสี่ยงไปได้ ไม่มีพลังใดที่มีอยู่สามัญในโลกนี้ที่จะแบ่งแยกมันได้ นี่คือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นเป็นอย่างแรก”

 
 
เซอร์ไอแซก นิวตัน (www.aerospaceweb.org)

            ทั้งหมดนี้เนื้อแท้ก็เป็นเพียงทฤษฎี โดยนิวตันบอกไว้ชัดเจนแต่ต้นว่า “สำหรับฉันแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า...” ซึ่งการทดลองพิสูจน์ว่าอะตอมมีอยู่จริงยังทอดระยะอยู่อีกยาวนานในอนาคต
            สสาร-สิ่งที่มองเห็นได้แล้วก็จับต้องได้อันประกอบขึ้นเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น สิ่งที่ต้องศึกษาในขณะนี้ก็คือสสาร ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่อยู่ในสสารก็คืออะตอม
            สสารมีกี่ชนิดกันบ้าง? มีมากชนิดจนเกินกว่าจะจาระไนทีเดียว นักปรัชญาโบราณจึงมีระบบง่าย ๆ ของพวกเขา คือ พวกเขาพูดถึงธาตุสี่อย่าง ดิน น้ำ อากาศธาตุ และ ไฟ สสารทุกอย่างที่อยู่ข้างใต้เท้าของพวกเขาก็คือ ดิน ไม่ว่าจะเป็น ก้อนหิน ทราย ดินเหนียว และโลหะทุกชนิดที่ฝังตัวอยู่ในแร่ธาตุ สำหรับมหาสมุทร ทะเลสาบ และแม่น้ำก็ประกอบด้วย น้ำ เช่นกันกับบรรยากาศก็ประกอบด้วย อากาศ และดวงอาทิตย์สร้างขึ้นจาก ไฟ ระบบหยาบ ๆ ที่กล่าวมานี้ที่จริงไม่ได้มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์เลย แค่พอให้ดีโมคริตุสและกาสซองดีสามารถคาดเดาเอาว่าอะตอมมาเกาะเกี่ยวกันเข้ากลายเป็นดินแข็ง หรือแค่พอให้บอกว่าอะตอมของของเหลวมีความลื่นตัว ส่วนอะตอมของแก๊สก็มีเสรีที่จะโบยบินไปได้
            ระบบธาตุสี่นี้มีข้อสับสนอยู่หลายประการ สมมติว่าน้ำถูกแช่แข็งและกลายเป็นของแข็งคือก้อนน้ำแข็ง มันยังคงเป็นน้ำอยู่ หรือว่ากลายเป็นดินไปแล้วเมื่อถูกแช่แข็ง? แล้วถ้าโยนก้อนทองคำชิ้นหนึ่งเข้าไปในเบ้าหลอมที่กำลังลุกแดง ทำให้ทองคำหลอมและค่อย ๆ ไหลไปไหลมาได้อย่างกับน้ำ แล้วของแข็งอย่างทองคำได้กลายเป็นน้ำไปแล้วหรือไม่เพราะว่ามันไหลได้? เปล่าเลย ธาตุอย่างโบราณได้พาไปถึงทางตันเสียแล้ว ความคิดสมัยก่อนอย่างนี้ก้าวไปข้างหน้าได้ยาก ทำให้ความคิดอย่างวิทยาศาสตร์จะต้องเกิดขึ้นมา ดังนั้น เมื่อรอเบิร์ต บอยล์ แห่งประเทศอังกฤษ โผล่เข้ามาในฉากของเรื่องวิทยาศาสตร์ เขาก็เขี่ยเอาธาตุสี่เก่าแก่ออกไปที่ด้านข้าง

 
 
รอเบิร์ต บอยล์ (www.answers.com)

            บอยล์ต่างจากกาลิเลโอและกาสซองดีตรงที่เขาเป็นคนรวย เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1627 โดยเป็นบุตรของเอิร์ลแห่งคอร์ก เมื่ออายุได้แปดปีก็ถูกส่งไปเรียนที่อีตัน จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี หลังจาบิดาถึงแก่อนิจกรรม เขาก็ได้รับสืบทอดมรดกมหาศาล วิทยาศาสตร์สำหรับเขาแล้วต้องพูดว่าถือเป็นงานอดิเรก เขาคงต้องรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นช่างชวนให้ใหลหลง เพราะว่าเขาถึงกับไม่มีเวลาคิดถึงการแต่งงานมีครอบครัว
            ในปี ค.ศ. 1661 บอยล์ตีพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า The Sceptical Chemist (นักเคมีผู้สงสัย) อันเป็นชื่อที่เหมาะเจาะ เพราะว่าหนังสือของเขาแนะให้ผู้คนในแวดวงเคมีของเขา ชำระจิตใจให้หมดไปจากเรื่องลึกลับ และมนต์ดำที่เขียนอยู่ในข้อเขียนเก่า ๆ หนังสือส่วนใหญ่ที่บอยล์โจมตีเขียนโดยนักเล่นแร่แปรธาตุรุ่นก่อน ที่แสวงหาความลับของการทำทองคำจากโลหะที่ด้อยค่ากว่าอย่างตะกั่วหรือเหล็ก บอยล์เชื่อว่าใครก็ไม่อาจ “ทำ”ทองคำขึ้นมาได้ มันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติเท่านั้นที่จะสร้างขึ้นมาได้ ไม่มีทางที่จะเจอได้จากหลอดแก้วสีเขียวเรืองของนักมายากล เว้นแต่จะใส่เอาไว้ก่อน สำหรับบอยล์แล้ว ทองคำก็คือ “ธาตุ” ซึ่งเขาหมายถึงสารพื้นฐานที่ไม่อาจประกอบขึ้นหรือทำขึ้นจากสารอื่น ๆ เขาสอนว่าสสารอื่น ๆ เช่น ทองแดง เงิน และของไหลประหลาดอย่างปรอท ก็เป็นธาตุเช่นกัน
            บอยล์เชื่อว่าจำนวนสสารทุกชนิดมากมายซึ่งคนโบราณยังเรียกหาไว้แตกต่างสับสนปนเปกันอยู่นั้น เมื่อจัดเข้าตามสารพื้นฐานก็จะสามารถลดจำนวนลงได้มาก ทำนองเดียวกับบ้านซึ่งมีหลายชนิดล้วนแตกต่างกัน บ้างที่ขนาด แบบ และรูปลักษณ์ แต่บ้านทุกหลังก็สามารถแยกย่อยลงเป็น อิฐ ท่อประปา คาน จันทัน ซึ่งก็คือธาตุสำหรับบ้านทุกหลังที่สามารถนำมาประกอบกันบ้านชนิดใดก็ได้ ทำนองเดียวกับที่เราสามารถ “วิเคราะห์” องค์ประกอบของบ้านได้ว่าประกอบขึ้นจากอิฐ ท่อประปา คาน และจันทัน เพียงแต่บอยล์คิดว่าสสารแต่ละชนิดมีความซับซ้อนมากกว่า อย่างเช่นดินเหนียว เกลือ หรือแก้ว ก็เชื่อว่าน่าจะประกอบขึ้นจากธาตุ 2 ธาตุหรือมากกว่า ซึ่งทราบได้ด้วยการ “วิเคราะห์ทางเคมี” ที่กล่าวมานี้ดูเป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับปัจจุบันนี้ แต่ขณะที่บอยล์เสนอแนวคิดเกี่ยวกับธาตุสำหรับวิชาเคมีในยุคของเขานั้น นับว่าเป็นความกล้าหาญอันยิ่งใหญ่
            ต้องใช้เวลานานกว่าศตวรรษทีเดียว กว่าที่แนวคิดของบอยล์เกี่ยวกับธาตุทางเคมี จะสามารถพาวิทยาศาสตร์ให้เข้าใกล้อะตอมเข้าไปได้อีกก้าวหนึ่ง โดยคราวนี้ต้องไปที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง กับผู้ที่มีนามว่าอองตวน โลรอง ลาวัวซีเย

 
 
อองตวน ลาวัวซีเย (www.answers.com)

            นักเคมีผู้ยิ่งใหญ่คนนี้เป็นคนแข็งขันอย่างที่สุด เขามีรูปร่างสูง หล่อเหลา และเป็นนักคิดที่แหลมคม และเขานี่แหละที่นำระเบียบและกฎมาใช้กับวิชาเคมี โดยก่อนหน้านี้วิชาเคมียังไร้ระเบียบ เป็นแค่มากกว่าการละเล่นหุงหา ต้ม และผสมตามแต่เครื่องปรุงหรูหราทั้งหมดที่มีอยู่ ลาวัวซีเยริเริ่มในการชั่งและตวง นำตาชั่งมาใช้อย่างชาญฉลาด และในไม่ช้าเขาก็สามารถสะสางหนึ่งในปริศนายิ่งใหญ่ทางเคมีในยุคนั้นได้สำเร็จ คือเขาสามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเกิดการเผาไหม้
            ด้วยการสังเกตอย่างผิวเผินที่สุดจะพบว่าเมื่อสิ่งใดเผาไหม้ก็จะทำให้น้ำหนักของมันหายไป ท่อนไม้ที่หนักเมื่อโยนเข้าไปในกองไฟ มันจะเริ่มติดไฟ แตกสลายออกอย่างช้า ๆ และสักพักก็จะหดลงเหลือแค่ขี้เถ้ากองเล็ก ๆ ขี้เถ้ากองนี้กลับเบามากและยังเป็นปุยบางเบาที่สามารถเป่าให้ปลิวหายไปได้
            แท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดการเผาไหม้จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังเช่นไม้ที่เผาไหม้ก็จะทำให้เกิดควันโขมง ไอ แก๊ส เขม่า และขี้เถ้า ซึ่งถ้าสามารถเก็บเอาไว้ได้ทั้งหมด น้ำหนักรวมของพวกมันจะมากกว่าน้ำหนักดั้งเดิมของท่อนไม้ก่อนเผา ผลลัพธ์นี้คงค่อนข้างจะเหนือความคาดหมาย ต้องอาศัยใจที่เปิดกว้างอย่างใจของลาวัวซีเยมาคาดหมายในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจคาดหมายได้ เขาเอาก้อนกำมะถันซึ่งเป็นธาตุทางเคมีมาก้อนหนึ่ง ชั่งน้ำหนักไว้อย่างดี แล้วค่อยเผามันภายใต้เงื่อนไขที่ควบคุมไว้เป็นอย่างดี ทำให้ชั่งน้ำหนักของทั้งควันทั้งไอที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเขาชั่งน้ำหนักเอาไว้ได้ทั้งหมด ก็ปรากฏว่ามีน้ำหนักรวมกันมากกว่าน้ำหนักก้อนกำมะถันที่ชั่งไว้ตอนแรก

 
 
อุปกรณ์ทดลองการเผาไหม้ (www.robinsonlibrary.com)

            เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1772 ลาวัวซีเยได้ส่งซองปิดผนึกซองหนึ่งถึงเลขานุการของบัณฑิตยสถานสำนักวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส ในซองเป็นบันทึกที่มีข้อความสองสามประโยคอธิบายสิ่งที่เขาสังเกตพบ และลาวัวซีเยยังบอกไว้ว่าจะตีพิมพ์รายละเอียดการทดลองของเขาในภายหลัง เขาปิดผนึกบันทึกนี้ไว้ในซองเผื่อว่าในภายหลังหากมีผู้แย้ง เขาก็สามารถจะพิสูจน์แก่ทุกคนได้ว่าเขาเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบหลักการทางเคมีของการเผาไหม้
            สิ่งที่เกิดขึ้นกับก้อนกำมะถันเป็นเรื่องง่าย ๆ ดังนี้ เมื่อถูกเผา ธาตุกำมะถันก็เกิดการรวมตัวกับธาตุออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศ การรวมตัวที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าปฏิกิริยาเคมีระหว่างธาตุ 2 ธาตุ แน่ละว่าควันและไอจะต้องหนักกว่ากำมะถันอย่างเดียว เพราะเมื่อเกิดการเผาไหม้มีออกซิเจนเข้าไปรวมกับกำมะถันนั่นเอง
            ลาวัวซีเยใช้ตาชั่งของเขามองเข้าไปในธรรมชาติของปฏิกิริยาเคมีได้ลึกกว่า รู้ได้มากกว่านักเคมีคนใดก่อนหน้านี้ เขาสามารถพิสูจน์ด้วยการชั่งอย่างละเอียดว่าธรรมชาติได้สร้างสสารขึ้นมาโดยการรวมของธาตุต่าง ๆ แบบเดียวกับที่เครื่องปรุงทั้งหลายมารวมกันเป็นอาหาร เขาทำให้ตาชั่งกลายเป็นเครื่องมือหลักของนักเคมี และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนทุกวันนี้
            ลาวัวซีเยตระหนักว่า ธาตุทางเคมีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการเข้าใจธรรมชาติของสสาร ตัวเขาเองก็ลงแรงไปมากกับเรื่องของธาตุ เขาเป็นผู้รวบรวมบัญชีธาตุขึ้นเป็นครั้งแรกโดยรวบรวมไว้ได้ทั้งหมด 28 ธาตุ ซึ่งร้อยปีก่อนหน้านี้ยังถือกันอยู่ว่ามีเพียง 4 ธาตุ และปัจจุบันเรารู้กันแล้วมีมากกว่าร้อยธาตุ
            ลาวัวซีเยผู้ยิ่งใหญ่ประสบกับมรณกรรมอันน่าเศร้าในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1794 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาถูกบุกจับตัวไปด้วยข้อหาที่กุขึ้นว่าเขาผสมน้ำลงไปในยาสูบของทหาร ศาลปฏิวัติตัดสินให้เขาตายใต้คมประหารของกิโยตีน ในขั้นตอนไต่สวน เขายกประเด็นผลงานหลายประการ จากการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เขาสร้างให้กับประเทศ ตลอดชีวิตอันแข็งขันของเขา แต่ผู้พิพากษาตัดบทเขาว่า “สาธารณรัฐไม่ต้องการนักวิทยาศาสตร์!” และเขาโดนประหารภายใน 24 ชั่วโมง

 
 
dailyrhino.blogspot.com

            ในเวลาต่อมานักคณิตศาสตร์นามอุโฆษชื่อลากรองได้กล่าวไว้อย่างขมขื่นว่า “พวกเขา (ทหาร) ใช้เวลาตัดหัวนั้นเพียงประเดี๋ยวเดียว แต่บางที อาจต้องใช้เวลานับร้อยปี กว่าจะผลิตหัวอย่างนั้นให้ได้อีกสักหัวหนึ่ง!”
            หลังยุคของลาวัวซีเย นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ว่าสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัวของเราไม่ว่าอย่างไรก็ต้องประกอบขึ้นด้วยธาตุทางเคมี ที่รวมและผสมกันด้วยวิธีการที่แน่นอนเกิดเป็นสสารทุกชนิดหลายหลากต่างสีสัน ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ดีโมคริตุสและกาสซองดีเคยพูดถึงอะตอมเอาไว้เหมือน ๆ กัน ซึ่งแน่ชัดว่า ธาตุทางเคมีและอะตอมจะต้องสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แปลจาก CHAPTER FOUR: THE SECRET OF MATTER ของหนังสือ The WALT DISNEY story of OUR FRIEND THE ATOM by Heinz Haber, Published by DELL PUBLISHING CO., INC., N.Y., 1956