การจัดการกากกัมมันตรังสี (2)
หลักการพื้นฐานในการจัดการกากกัมมันตรังสี

นันทวรรณ ยะอนันต์
ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

2. หลักการพื้นฐานในการจัดการกากกัมมันตรังสี (Fundamental Principles of Radioactive Waste Management)

การจัดการกากกัมมันตรังสี มิได้หมายถึงการทำลายวัสดุกัมมันตรังสีให้หมดสิ้นไป เพราะวิธีทางเคมี ฟิสิกส์สามัญ ไม่สามารถทำลายกัมมันตภาพรังสีได้ ปัจจุบันวิธีทางนิวเคลียร์ซึ่งยุ่งยากและสิ้นเปลือง ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ จะมีก็แต่กระบวนการสลายตามธรรมชาติของวัสดุกัมมันตรังสีเท่านั้น ดังนั้นการจัดการกากกัมมันตรังสีจะต้องมีการวางมาตรการเพื่อความปลอดภัย หรือมีข้อกำหนดในการป้องกันอันตรายทางรังสี ที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น ทั้งนี้หากเกิดมีความผิดพลาดอันมีสาเหตุมาจากไม่มีการวางแผนหรือเตรียมการด้านจัดการกากกัมมันตรังสีมาก่อน จะเกิดการเสียหายขึ้นในภายหลัง  หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการจัดการกากกัมมันตรังสีอย่างถูกต้อง มีดังนี้

 

Principle 1: Protection of human health   หลักการพิทักษ์สุขภาพมนุษย์

การดำเนินงานจัดการกากกัมมันตรังสี จะทำได้เมื่อมีมาตรการความปลอดภัย เพื่อใช้ควบคุมผู้ปฏิบัติงาน และป้องกันมิให้ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ได้รับผลกระทบจากกากกัมมันตรังสีนั้น  กระบวนการจัดการกากจะต้องมีการวางแผน และเตรียมการเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยมีข้อกำหนด แนวปฏิบัติ และมาตรการด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีซึ่งกำหนดไว้โดยองค์กรสากล เช่น คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันอันตรายจากรังสี (International Commission on Radiological Protection: ICRP) ซึ่งควรนำมาศึกษาและกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยของประเทศ องค์กรสากลICRP กำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถรับรังสีได้ 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี และ สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี สามารถรับรังสีได้โดยเฉลี่ย 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี คือใน 5 ปี ไม่เกิน 100 มิลลิซีเวิร์ต

Principle 2: Protection of the environment   หลักการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

การจัดการกากกัมมันตรังสีที่ปลอดภัยนั้น นอกจากการทำให้เข้มข้น แล้วเก็บรวบรวม การทอดระยะเวลาให้รังสีสลาย ยังมีการทำให้เจือจางแล้วระบายทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมเช่น ทางอากาศ น้ำและดิน โดยมีค่าเกณฑ์ปลอดภัย หรือค่าที่อนุญาตให้ปล่อยได้ (authorized limits) เช่นระบายออกทางปล่องควัน ท่อระบายน้ำ และการขจัดทิ้งกากแบบฝังดินตื้น หรือในชั้นธรณีวิทยา การดำเนินการทั้งหมดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม

Principle 3: Protection beyond national borders หลักการป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อ
ประเทศเพื่อนบ้าน

การจัดการกากกัมมันตรังสีต้องมีมาตรการดำเนินการเพื่อพิทักษ์มนุษยชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน และต้องใช้มาตรฐานการดำเนินงานในระดับเดียวกับที่ใช้ในประเทศของตน ทั้งนี้ต้องยึดถือหลักเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรสากลเช่น ICRP และ IAEA เป็นต้น

Principle 4: Protection of future generations หลักการพิทักษ์มนุษยชนรุ่นหลัง

การจัดการกากกัมมันตรังสีระดับสูงและมีครึ่งชีวิตยาว โดยการฝังใต้ดินหรือในชั้นธรณีวิทยาโครงสร้างแบบธรรมชาติ หรือร่วมกับโครงสร้างทางวิศวกรรม ต้องมีกระบวนการสำรวจสถานที่(siting Process) การเฝ้าระวัง และวิเคราะห์ความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยมีหลักการว่าผลกระทบที่ยินยอมให้อนุชนรุ่นต่อไปได้รับ จะต้องไม่มากกว่าเกณฑ์ที่ยินยอมให้ประชาชนปัจจุบันรับได้ เนื่องจากการคำนวณผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงเวลาของอนาคตยาวนานมาก (มากกว่า 100 ปีขึ้นไป) ต้องตระหนักถึงความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลต่าง ๆ และวิธีการประเมินผลกระทบ รวมทั้งค่าความไม่แน่นอน (uncertainties) ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ต้องการด้วย

Principle 5: Burden on future generations ไม่ผลักภาระให้อนุชนรุ่นหลัง

ความรับผิดชอบของประชาชนรุ่นปัจจุบัน คือการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการกากกัมมันตรังสีให้ปลอดภัย ก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติการจัดการกากกัมมันตรังสี (operating facilities) และจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนการจัดการกากกัมมันตรังสี

ผู้ก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสี (waste generators) จะต้องรับผิดชอบต่อกากที่ทำให้เกิดขึ้น โดยไม่ผลักปัญหาไปแก้ไขในอนาคต อย่างไรก็ตาม อนุชนรุ่นหลังก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงหน้าที่ซึ่งจะตกทอดมาตามระยะเวลาได้ เช่น การเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของสถานที่ฝังกาก ซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บข้อมูลกาก และเอกสารสำคัญ เช่น บริเวณและส่วนปฏิบัติการสถานที่ทิ้งกากถาวร (disposal facilities) บัญชีกาก (inventory) และการดูแลรักษาให้ข้อมูลคงอยู่ตลอดไป

Principle 6: National legal framework   จัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแล และกฏหมายให้ชัดเจน

ประเทศที่มีการผลิต การใช้ประโยชน์ จากสารไอโซโทปรังสีหรือต้นกำเนิดรังสี ต้องมีการพัฒนาทางด้านกฎหมายของประเทศในด้านการจัดการกากกัมมันตรังสี ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายเฉพาะด้านการจัดการกากกัมมันตรังสี โดยมีการกำหนดองค์กรกำกับดูแล หรือ regulatory body ที่รับผิดชอบในการควบคุม กำกับดูแล ออกกฎหมาย วางกฎระเบียบ รวมทั้งแนวปฏิบัติ ในทุกขั้นตอนของการจัดการกากกัมมันตรังสี เริ่มต้นตั้งแต่มาตรการการเก็บรวบรวม การขนส่ง การบำบัด การแปรสภาพ การเก็บรักษาชั่วคราว และการขจัดทิ้งกากถาวร เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการจัดการกากของประเทศ (national RWM strategies) โดยกฎหมายจะต้องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้ดำเนินการจัดการกาก (waste operator) และหน่วยงานที่ก่อให้เกิดกาก (waste generator)

ตามหลักสากล หน่วยงานกำกับดูแล (regulatory body) จะต้องแยกตัวออกจากหน่วยปฏิบัติ (operating organization) ทั้งนี้เพื่อความมีอิสระในการกำกับดูแล และตรวจสอบ ด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติจัดการกากกัมมันตรังสี

Principle 7: Control of radioactive waste generation
การควบคุมการเกิดกากกัมมันตรังสีให้มีน้อยที่สุด

การทำงานจะต้องมีมาตรการที่รัดกุมในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีกากกัมมันตรังสีเกิดขึ้นทั้งปริมาณ และค่ากัมมันตภาพรังสี น้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ เริ่มตั้งแต่การวางแผน การออกแบบ การก่อสร้าง มาตรการในระหว่างปฏิบัติงาน (commissioning) ตลอดจนเมื่อเลิกใช้งาน หรือมีการรื้อถอน (decommissioning) รวมทั้งการเลือกใช้วัสดุ ควรใช้หลักการ recycle and reuse มาปฏิบัติ เพื่อช่วยลดปริมาณกากกัมมันตรังสี

Principle 8: Radioactive waste generations and management interdependencies
ความสัมพันธ์ของผู้ก่อให้เกิดกากและผู้จัดการกาก

วิธีการจัดการกากกัมมันตรังสีที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของกากกัมมันตรังสี โดยทั่วไปขั้นตอนการจัดการกากกัมมันตรังสี ประกอบด้วย การเตรียมก่อนบำบัดกาก การบำบัดกาก การแปรสภาพกาก การเก็บรักษาชั่วคราว และการขจัดทิ้งกากถาวร รวมทั้งการขนส่งกาก ในทุกขั้นตอนจะมีความสัมพันธ์และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน การเลือกเทคโนโลยีในแต่ละขั้นตอนต้องคำนึงถึงวิธีการขจัดทิ้งกากในขั้นตอนสุดท้าย (final disposal) ด้วย ดังนั้นผู้ก่อให้เกิดกากและผู้จัดการกาก จะต้องมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน ผู้ก่อให้เกิดกากจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวปฏิบัติตามข้อตกลงกับผู้จัดการกาก เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในการจัดการกากในขั้นสุดท้าย และเพื่อความปลอดภัยในระยะยาว

Principle 9: Safety of facilities   ความปลอดภัยในสถานปฏิบัติการจัดการกากกัมมันตรังสี

การวางแผน เพื่อจัดให้มีสถานปฏิบัติการจัดการกาก ประกอบด้วย การสำรวจหาสถานที่ที่เหมาะสม (siting) การออกแบบ (design) การก่อสร้าง (construction) การดำเนินการปฏิบัติงาน(operation) และการเลิกใช้สถานที่ (decommissioning) หรือการปิดหลุมสถานที่ฝังทิ้งกาก สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ เรื่องความปลอดภัย การเลือกพื้นที่ต้องศึกษาถึงผลกระทบของพื้นที่ต่อการปฏิบัติงาน การออกแบบ ก่อสร้าง และกิจกรรมต่าง ๆ ต้องมีแผนป้องกันอุบัติเหตุ ควรมีการประกันคุณภาพของการดำเนินงาน รวมทั้งมีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ และควรรมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยืนยันด้านความปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง

IAEA, Safety Series No.111-F “The principles of Radioactive Waste Management”, International Atomic Energy Agency, Vienna, Austria, 1995.