ทัวร์มาลีน TOURMALINE

อภิเชษฐ์ มณีวงษ์
ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทัวร์มาลีนเป็นพลอยเนื้ออ่อนที่มีหลากสี ตั้งแต่โปร่งแสงจนทึบแสง บางชนิดมีชื่อทางการค้าพิเศษ บางชนิดมีชื่อตามสี เช่น สีน้ำเงินโปร่งใส เรียกว่า อินดิโคไลต์ (indicolite) สีเขียวเข้ม เรียกว่า โครมทัวร์มาลีน (chrome tourmaline) สีดำทึบแสง เรียกว่า สโครล์ (schorl) สีชมพูล้อมด้วยขอบเขียว โปร่งใส เรียกว่า วอเตอร์เมลอนทัวร์มาลีน (watermelon tourmaline) สีฟ้าแกมเขียวสด เรียกว่า พาราอีบาทัวร์มาลีน (paraiba tourmaline) ซึ่งเป็นชนิดที่หายากและราคาสูง สำหรับสีที่นิยมมากที่สุด คือ สีชมพูแดง เรียกว่า รูเบลไลต์ (rubellite) เนื่องจากมีสีคล้ายทับทิม โดยเม็ดที่มีสีสวยงาม ไม่มีตำหนิ มีราคาสูงกว่าสองหมื่นบาทต่อกะรัต [1] ด้วยเหตุนี้ผู้ค้าพลอยจึงมีความพยายามในการปรับปรุงสีของทัวร์มาลีนให้เป็นสีชมพูแดงเหมือนกับรูเบลไลต์ ซึ่งการฉายทัวร์มาลีนด้วยรังสีแกมมาก็เป็นวิธีการหนึ่ง

การเกิดสีของทัวร์มาลีนฉายรังสีแกมมาอาจเป็นสีชมพูเฉดต่าง ๆ ทัวร์มาลีนสีชมพูอ่อนจะมีสีเข้มขึ้น หรืออาจเปลี่ยนเป็นสีส้ม ทัวร์มาลีนสีเขียวอ่อนอาจเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนสีของทัวร์มาลีนขึ้นกับคุณสมบัติของพลอยแต่ละก้อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าธาตุปริมาณน้อยมีผลต่อการเกิดสีของพลอย ทัวร์มาลีนก็เช่นกัน กลไกการเกิดสีชมพูในทัวร์มาลีนยังไม่เป็นที่แน่ชัด Nassau[2] เชื่อว่า สีชมพูในรูเบลไลต์อาจเกิดจากสีของธาตุสารเจือปน Mn3+ แต่ทั้งนี้ในตัวอย่างจะต้องมีธาตุเหล็กเจือปนอยู่ในปริมาณน้อย

สมบัติของทัวร์มาลีน [3], [4], [5]

“ทัวร์มาลีน” มาจากคำว่า “ทุรมาลี (Turamali)” ในภาษาสิงหล ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกรัตนชาติของศรีลังกาในสมัยก่อน โดยมีสมบัติดังนี้

สูตรเคมี Na(Mg, Fe, Li, Al)3Al6(Si6O18)(BO3)3(OH, F)4
ระบบผลึก ผลึกเฮกซะโกนัล (hexagonal) ผลึกมีลักษณะเป็นแบบเนื้อสมานแน่น ปกติจะพบผลึกยาวเป็นแท่งเหมือนแท่งดินสอ มีแนวร่องขนาน (striation) ขนานไปกับความยาวของรูปผลึก
ความแข็ง 7-7.5
ความโปร่งแสง โปร่งใสถึงทึบแสง
ความวาว แบบแก้วหรือแบบยางสน
รอยแตก แบบก้นหอย (conchoidal)
สี มีหลายสี ดังรูปที่ 1 แต่สีที่นิยม คือ สีแดง ชมพู เขียว น้ำเงิน และพลอย 2 สี คือ เขียว-แดง
ความถ่วงจำเพาะ 3.00-3.26 ปกติมีค่า 3.06
 
 
รูปที่ 1 เฉดสีของทัวร์มาลีน
ชนิดและชื่อทางการค้าของทัวร์มาลีนสีต่าง ๆ ดังรูปที่ 2
อะครอยต์ (Achroite) ใสไม่มีสี มาจากภาษากรีก “Achroos ” แปลว่าไม่มีสี
รูเบลไลต์ (Rubellite (Mn)) สีชมพู หรืออาจมีสีน้ำตาล ส้ม หรือสีม่วงปน มาจากภาษาละติน แปลว่า สีแดง
เวอร์ดีไลต์ (Verdelite (Fe)) สีเขียวอมน้ำเงิน หรือสีเขียวอมเหลือง
พาราอีบา (Paraiba (Cu)) สีเขียว-น้ำเงิน มีสีเจิดจ้า มาจากชื่อเมือง Paraiba ในบราซิล
ลิดดิโคไลต์ (Liddicoalite) แสดงแถบสีเด่นชัด ขนานกับหน้า pyramid มาจากชื่อ R.T. Liddicoat อดีตประธานของ GIA
แคทส์อายทัวร์มาลีน (Cat’s eye tourmaline) แสดงปรากฏการณ์ตาแมว
โครมทัวร์มาลีน (Chrome tourmaline (Cr/V)) มีสีเขียวสด
อินดิโคไลต์ (Indicolite (Fe)) สีน้ำเงินอมม่วง ถึงอมเขียว
ดราไวต์ (Dravite) สีเหลืองถึงน้ำตาลโทนมืด มาจากชื่อแคว้น Drave ในออสเตรเลีย
วอเตอร์เมลอน (Watermelon) แกนกลางสีชมพูมีขอบสีเขียว
ไบคัลเลอร์ (Bicoloured) มีสองสีในเม็ดเดียวกัน
พาร์ติคัลเลอร์ (Particoloured) มีหลายสีในเม็ดเดียวกัน
รูปที่ 2 ชนิดและชื่อทางการค้าของทัวร์มาลีน
อ้างอิง
  1. ชาญชัย อัศววินิจกุลชัยและคณะ, “การศึกษาเบื้องต้นความสัมพันธ์ระหว่างธาตุองค์ประกอบกับสีของทัวร์มาลีน,” อัญมณีฉายรังสี (2543) หน้า 46
  2. อัจฉรา แสงอริยวนิชและคณะ, “การวิเคราะห์ทัวร์มาลีนสีชมพูด้วยเทคนิคการวาวรังสีเอกซ์,” อัญมณีฉายรังสี, (2543) หน้า 56
  3. ปรานี ไทยเที่ยง, “การเปลี่ยนสีของทัวร์มาลีนเมื่อผ่านการฉายรังสีนิวตรอน,” (วิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีอัญมณี วิทยาลัยอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2548)
  4. K. Nassau, Gemstone Enhancement, (London: Butterworths, 1984) p. 167.
  5. ศิวาพร สหวัฒน์, อัญมณีศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 (นนทบุรี: Nuclear, 2549)