ความปลอดภัยของแท่งเชื้อเพลิงแบบ UZrH
และ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA

กนกรัชต์ ตียพันธ์
กลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA เป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก (รูปที่ 1) โดยมีการติดตั้งประมาณ 65 เครื่อง และใช้ใน 24 ประเทศ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA มีคุณสมบัติและกำลังที่แตกต่างกันตั้งแต่ 20 กิโลวัตต์ ถึง 16 เมกะวัตต์ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA มีระบบที่เรียกว่า inherent safety ซึ่งทำให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นจากระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม (engineered safety)

 
 
รูปที่ 1 เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA

แนวคิดของระบบความปลอดภัยแบบ inherent safety เริ่มจากในปี ค.ศ. 1956 โดย Dr. Edward Teller และนักวิจัยในแซนดิเอโก ได้มีแนวคิดในการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ที่ปลอดภัย โดยเริ่มจากแนวคิดที่ว่า ในภาวะดับเครื่องปฏิกรณ์ ฯ และดึงแท่งควบคุมทุกแท่งออกหมดทันที เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย สามารถจะเดินเครื่องต่อได้ โดยที่แท่งเชื้อเพลิงไม่หลอมละลาย หรือ อีกนัยหนึ่ง เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติ หรืออุบัติเหตุ ที่เกิดจากระบบควบคุมความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย แบบระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม ในกรณีที่เกิดความบกพร่อง ดังนั้นการออกแบบความปลอดภัยแบบ inherent safety โดยใช้หลักการของธรรมชาติ จะช่วยเสริมและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย นอกเหนือจากระบบความปลอดภัย แบบระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม ดังนั้น ระบบความปลอดภัยแบบ inherent safety จะทำให้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA มีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม จะขัดข้องหรือแท่งควบคุมทุกแท่งถูกดึงออกหมด

แนวคิด “หลักการวอร์มนิวตรอน” (วอร์มนิวตรอน หรือ epithermal neutron มีช่วงพลังงานระหว่าง 0.025 – 1 eV) ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบความปลอดภัยแบบ inherent safety ของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA โดยทั่วไปในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบหล่อเย็นด้วยน้ำ (water-cooled) ถ้ามีการดึงแท่งควบคุมออกหมดแบบทันทีทันใด จะทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง ซึ่งทำให้การเกิดแท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายได้ ทั้งนี้เนื่องจากนิวตรอนจากปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสหรือฟิชชัน ยังเป็นโคลด์นิวตรอน (cold neutron มีช่วงพลังงานระหว่าง 5x10-5 eV – 0.025 eV) จากการเกิดอันตรกิริยากับน้ำเย็นที่อยู่รอบ ๆ แท่งเชื้อเพลิง จึงทำให้อะตอมยูเรเนียมในแท่งเชื้อเพลิงเกิดฟิชชันต่อเนื่องได้ ดังนั้น จะทำให้อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงสูงขึ้น และทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายได้

แต่สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA ใช้ตัวหน่วงความเร็วนิวตรอน (moderator) คือ ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นส่วนผสมอยู่ภายในแท่งเชื้อเพลิง เมื่อแท่งควบคุมถูกดึงออกทันทีทันใด จะทำให้อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงสูงขึ้น และเป็นผลทำให้นิวตรอนที่อยู่ภายในแท่งเชื้อเพลิง ที่ผสมไฮโดรเจน เริ่มมีพลังงานสูงกว่านิวตรอนที่อยู่ในน้ำ นิวตรอนในแท่งเชื้อเพลิงที่อุณหภูมิสูงขึ้นนี้ (warm neutron) ทำให้การเกิดปฎิกิริยาฟิชชันในแท่งเชื้อเพลิงลดลง และยังหลุดลอดออกมาในน้ำที่อยู่รอบ ๆ ดังนั้น ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นคือ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA จะมีกำลัง (power) ลดลงโดยอัตโนมัติ ภายในระยะเวลาสั้นมาก (few thousandths of a second) ซึ่งความปลอดภัยแบบ inherent safety นี้สามารถทำได้เร็วกว่าการใช้ระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า แท่งเชื้อเพลิงของเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA ทำหน้าที่เหมือนตัวควบคุมกำลังแบบอัตโนมัติ (automatic power regulator) และสามารถทำให้ดับเครื่องได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้ระบบความปลอดภัยเชิงวิศวกรรม

ในปี ค.ศ. 1950 บริษัท General Atomics ได้ออกแบบแท่งเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจน โดยแท่งเชื้อเพลิงมีส่วนผสมของไฮโดรเจนที่มีความเข้มข้นสูง และใช้โลหะผสมยูเรเนียมผสมเซอร์โคเนียม (รูปที่ 2) ผลการทดสอบพบว่า โลหะผสม สามารถต้านทานการผุกร่อนได้ เช่นเดียวกับเหล็กกล้าไร้สนิม (stainless steel) ดังนั้นแท่งเชื้อเพลิงแบบ ยูเรเนียม-เซอร์โคเนียม-ไฮดรายด์ (Uranium-Zirconium-Hydride (UZrH) ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท General Atomics ได้ถูกนำมาใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA และทำให้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยนี้มีความปลอดภัยสูงขึ้น

 
 
รูปที่ 2 แท่งเชื้อเพลิง UZrH
ประโยชน์และข้อดีของแท่งเชื้อเพลิงแบบ UZrH นี้มีดังต่อไปนี้
  1. ใช้หลักการของ warm neutron ดังนั้น ทำให้เกิด prompt negative temperature coefficient เมื่อเปรียบเทียบกับ delayed coefficient ของแท่งเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ เช่น แท่งเชื้อเพลิงแบบ aluminum clad plate type ซึ่งทำให้เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA มีความปลอดภัยมากกว่า เครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้แท่งเชื้อเพลิงแบบ aluminum plate-fuel
  2. สารประกอบ UZrH มีความเสถียรทางเคมี (quenched ที่อุณหภูมิ 1200 oC) ในขณะที่แท่งเชื้อเพลิงแบบ aluminum plate type จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างโลหะกับน้ำแบบ exothermic metal-water ที่อุณหภูมิ 650 oC
  3. เปลือกหุ้มแท่งเชื้อเพลิงของ TRIGA แบบเหล็กกล้าไร้สนิมหรือ alloy 800 สามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึง 950 oC ในขณะที่เปลือกหุ้มแท่งเชื้อเพลิงแบบ aluminum plate type สามารถทนอุณหภูมิได้ประมาณ 650 oC
  4. แท่งเชื้อเพลิงแบบ UZrH สามารถเก็บกักผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส (fission products) ได้มากกว่าแท่งเชื้อเพลิงแบบ plate type ซึ่งจะหลอมละลายที่อุณหภูมิประมาณ 650 oC และจะปลดปล่อยผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียสออกมา ในขณะที่อุณหภูมิเท่ากันนั้น แท่งเชื้อเพลิงแบบ UZrH สามารถเก็บกักผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียสไว้ได้ประมาณ 99 % ถึงแม้ว่าจะไม่มีเปลือกหุ้มแท่งเชื้อเพลิง
ในด้านความปลอดภัยต่อสาธารณชนพบว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA จะมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงแบบ UZrH ซึ่งมีระบบ inherent safety จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อสาธารณชน และใช้งบประมาณในการลงทุนก่อสร้างอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ฯ (รูปที่ 3) ในราคาต่ำกว่างบประมาณในการลงทุนก่อสร้างอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์แบบ plate type นอกจากนั้นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA สามารถจะตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลได้
 
 
รูปที่ 3 อาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยแบบ TRIGA
ในด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าแท่งเชื้อเพลิงของ TRIGA สามารถใช้ได้ระยะยาวเมื่อเปรียบเทียบกับแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์แบบ plate type ดังนั้นสามารถลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วและการขนส่งแท่งเชื้อเพลิงได้ สรุปได้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย แบบ TRIGA มีความปลอดภัยสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และโรมาเนีย ด้วย