การจัดซื้อแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย (ปปว-1/1) จำนวน 10 แท่ง

เดชาชัย ชาญบัญชี
กลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย–1/ปรับปรุงครั้งที่1 หรือ ปปว-1/1 ได้เดินเครื่องเพื่อผลิตรังสีนิวตรอนให้บริการแก่นักวิทยาศาสตร์ทั้งภายนอกและภายในสถาบันฯ เพื่อปฏิบัติงานวิจัยในด้านนิวเคลียร์เทคโนโลยีมาตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2520 เป็นต้นมา โดยคิดเป็นพลังงานสะสมประมาณ 1,908 เมกะวัตต์-วัน และในปัจจุบัน นักวิชาการ รวมทั้งนิสิต นักศึกษามีความสนใจงานวิชาการทางด้านนี้มากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากงานเปิดบ้านปรมาณู ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา มีประชาชน ข้าราชการ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มาเยี่ยมชมเครื่องปฏิกรณ์ฯ เป็นจำนวนมาก ตลอดจนผลผลิตที่ได้จากการเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารไอโซโทปรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ และทางอุตสาหกรรมก็มีผู้ใช้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่เครื่องปฏิกรณ์ฯ (ปปว-1/1) เดินเครื่องเข้าสู่สภาวะวิกฤติ และให้บริการแก่นักวิทยาศาสตร์และผู้สนใจมาตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา แกนของเครื่องปฏิกรณ์ฯ ซึ่งมีแท่งเชื้อเพลิงที่มียูเรเนียม-235 เป็นส่วนประกอบหลัก ก็เริ่มที่จะมีปริมาณของยูเรเนียมลดน้อยลง และในขณะเดียวกันที่ปัจจุบันมีผู้ขอใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯ เป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสารไอโซโทปรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งมีปริมาณความต้องการมากขึ้นทุกปี จนไม่สามารถผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับในอนาคตสถาบันฯ มีแผนที่จะเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ มากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับงานฉายรังสีอัญมณี

กลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์หรือ ปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการเครื่องปฏิกรณ์ฯ รวมถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จึงได้จัดให้มีการเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ ในปัจจุบัน จำนวน 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯอย่างเต็มที่ และจากการเดินเครื่องเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯ ดังกล่าว จึงทำให้มีการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยจะมีความสิ้นเปลืองโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 แท่ง และความสิ้นเปลืองดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น ปีละประมาณ 2-3 แท่ง ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงทั้งหมดที่ใช้งานอยู่ในแกนเครื่องปฏิกรณ์ฯ ขณะนี้มีปริมาณของยูเรเนียม-235 น้อยลงจากเดิมมาก และจำเป็นต้องมีการจัดแกนเครื่องปฏิกรณ์ฯใหม่ ทุก ๆ 2-3 ปี/ครั้ง (แต่ละครั้งจะเติมแท่งเชื้อเพลิงใหม่ 4-5 แท่ง/ครั้ง)

ก่อนที่จะมีการจัดซื้อเชื้อเพลิงใหม่ กลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (ปท.) มีแท่งเชื้อเพลิงสำรองเพื่อการใช้งานกับเครื่องปฏิกรณ์ฯ ปปว-1/1 อยู่เพียงสองแท่งเท่านั้น และ ปท. ก็มีแผนที่จะใช้งานแท่งเชื้อเพลิงสองแท่งดังกล่าวในการจัดแกนเครื่องปฏิกรณ์ฯ เพื่อให้สามารถเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ ได้ตามประเด็นยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและแข่งขันได้ กล่าวคือเพื่อให้ได้เป้าหมายตามตัวชี้วัดเป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน ซึ่งก็คือผลงานวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการของประเทศ

การจัดซื้อแท่งเชื้อเพลิง TRIGA Catalog No. 118 (20 wt% และ 20% enrichment) จำนวน 10 แท่ง ได้ดำเนินการจัดซื้อโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตคือบริษัท CERCA จากประเทศฝรั่งเศสโดยวิธีพิเศษ ใช้งบประมาณทั้งสิ้นเป็นเงิน 489,178 ยูโร หรือประมาณ 25,000,000 บาท การจัดซื้อเชื้อเพลิงดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สามารถเดินเครื่องปฏิกรณ์ฯ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งภายในและภายนอกสถาบันฯ ได้อย่างต่อเนื่องจนถึง พศ. 2555

แท่งเชื้อเพลิงได้ถูกส่งมาถึงประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา และได้ขนย้ายมายังสถาบันฯ เขตจตุจักร ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2551 ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดตามมาตรฐานระดับชาติและระดับสากล โดยขณะนี้แท่งเชื้อเพลิงใหม่ จำนวน 4 แท่ง จากทั้งหมด 10 แท่ง ได้ถูกบรรจุลงในแกนเครื่องปฏิกรณ์ฯ ซึ่งนับเป็นการจัดแกนเครื่องปฏิกรณ์ หมายเลข 17 แล้ว ทำให้ขณะนี้แกนเครื่องปฏิกรณ์ฯ ปัจจุบันมีแท่งเชื้อเพลิงบรรจุอยู่ทั้งหมด จำนวน 107 แท่ง

การจัดซื้อเชื้อเพลิงชนิด TRIGA ในครั้งนี้ จะเป็นผลให้ ปท. สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายของการให้บริการของสถาบันฯ ในการบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การแพทย์ และอื่น ๆ ตลอดจนเพื่อให้สามารถเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย-1/ปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ ปปว-1/1 เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ฯได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด