รังสีในอาหาร

โกวิทย์ นุชประมูล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

คนไทยนับว่าโชคดีที่อาศัยอยู่ในสุวรรณภูมิ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณ ธัญญาหาร มังสาหาร ดังคำกล่าวบอกเล่ากันมาว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในเล้ามีหมู เป็ด และไก่ ประเทศไทยจึงมีอาหารมากมายหลายชนิดและมากพอที่จะส่งไปเลี้ยงดูประชากรของโลกได้ แต่โลกใบนี้เป็นโลกของนิวไคลด์กัมมันตรังสีที่มีกำเนิดมาพร้อมกับโลกจึงมีสารรังสีมากมายกว่า 60 ชนิดที่พบในธรรมชาติ ได้แก่ สารรังสีในอนุกรมยูเรเนียม อนุกรมทอเรียม อนุกรมแอกทิเนียม และสารรังสีโพแทสเซียม-40 มนุษย์จึงได้รับรังสีจากพื้นโลก (terrestrial radiation) ตลอดเวลาทั้งจากภายนอกและภายในร่างกายปีละประมาณ 410 ไมโครซีเวิร์ต นอกจากรังสีจากพื้นโลกแล้วยังมีรังสีจากอวกาศอีก คือ รังสีคอสมิก ซึ่งเมื่อพุ่งชนกับโมเลกุลของแก๊สในชั้นบรรยากาศของโลกก็จะเกิดนิวไคลด์กัมมันตรังสีขึ้น เรียกว่า cosmogenic radionuclides เช่น ทริเทียม (3H) คาร์บอน-14 โซเดียม-22 ฯลฯ มนุษย์จึงต้องอยู่กับรังสีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในบ้านที่เราอยู่อาศัย แม้กระทั่งในตัวเรา ล้วนแต่มีรังสีทั้งนั้น ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นสารรังสีในธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมกับโลก ยังมีสารรังสีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมนุษย์เป็นผู้ผลิตขึ้นมา ได้แก่ ไอโอดีน-131 ซึ่งใช้รักษาอาการไทรอยด์เป็นพิษ เทคนีเชียม-99 ใช้วินิจฉัยโรค และสทรอนเชียม-90 ซีเซียม-137 ไอโอดีน-129 ซึ่งเป็นผลผลิตจากการแบ่งแยกนิวเคลียสของธาตุในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ สารรังสีเหล่านี้สามารถปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ หากมนุษย์ขาดสติและความรับผิดชอบดังจะเห็นได้จากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในอดีต

สารรังสีในอาหารมาจากไหน? ก่อนอื่นต้องทราบองค์ประกอบของอาหารก่อน อาหารประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และน้ำ เมื่อดูตามโครงสร้างแล้วก็ประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส กำมะถัน เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ซีลีเนียม ฯลฯ อาหารหรือธาตุต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อนำไปผ่านการฉายรังสีด้วยรังสีแกมมา รังสีเอกซ์ หรืออิเล็กตรอน ไม่ว่าจะใช้ปริมาณรังสีสูงเท่าใดก็ตามเพื่อฆ่าเชื้อโรค (radicidation) หรือเพื่อปลอดเชื้อจุลินทรีย์ (radappertization) ไม่มีโอกาสกลายเป็นธาตุกัมมันตรังสีได้ ดังนั้นสารรังสีในอาหารไม่ได้มาจากการฉายรังสีอาหารแน่ ๆ แล้วมาจากไหนล่ะ? แน่นอนต้องมาจากพื้นดินหรือแหล่งน้ำ บริเวณที่มีสารรังสีตามธรรมชาติ หรือบริเวณที่มีการปนเปื้อนด้วยฝุ่นกัมมันตรังสี จากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ หรือจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว เมื่อมีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์บนพื้นดินหรือในแหล่งน้ำเหล่านี้ สารรังสีก็จะถูกดูดซึมและสะสมในพืชและสัตว์ เมื่อนำไปแปรรูปเป็นอาหาร อาหารนั้นก็จะมีสารรังสีปนอยู่ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ นมผงที่ประเทศไทยนำเข้าจากยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529-2531 หรือหลังจากนั้น มีสารรังสี ได้แก่ ซีเซียม-137 ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่พบในฝุ่นกัมมันตรังสีและเมื่อตกลงสู่พื้นดิน ซีเซียม-137 ก็จะถูกดูดซึมอยู่ในพืชอาหารสัตว์ เมื่อวัวกินพืชก็จะไปสะสมอยู่ในวัว นมวัวที่รีดได้ก็จะมีสารรังสี เมื่อนำไปแปรรูปเป็นนมผง นมผงก็มีรังสี เมื่อเอาไปชงให้เด็กทารกกิน เด็กก็จะได้รับรังสีด้วย ดังนั้นนมผงที่นำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 จะต้องมีหนังสือรับรองความปลอดภัยระบุปริมาณกัมมันตภาพรังสีในรูปซีเซียม-137 ไม่เกิน 21 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม

ชนิดของสารรังสีตามธรรมชาติบนพื้นดินและในมหาสมุทรแสดงไว้ในตารางที่ 1 และ 2

ตารางที่ 1 Natural Radioactivity by the Square Mile, 1 Foot Deep

 Nuclide

Activity used
in  calculation

Mass of
Nuclide

Activity found in the
Volume of soil

 Uranium

0.7  pCi/g  ( 25 Bq/kg )

2200 kg

0.8 curies (31 GBq)

 Thorium

1.1  pCi/g  ( 40 Bq/kg )

12000 kg

1.4 curies (52 GBq)

 Potassium 40

11  pCi/g  ( 400 Bq/kg )

2000 kg

13 curies (500 GBq)

 Radium

1.3  pCi/g  ( 48 Bq/kg )

1.7 g

1.7 curies (63 GBq)

 Radon

0.17  pCi/g  ( 10 kBq/m3 ) soil

11 ug

0.2 curies (7.4 GBq)

 

 

Total

> 17curies (>653 GBq)

ตารางที่ 2 Natural Radioactivity by the Ocean

Nuclide

Activity used
in  calculation

Activity  in  Ocean

Pacific

Atlantic

All Oceans

Uranium

0.9 pCi/L
(33 mBq/L)

6 x 108 Ci
(22 EBq)

3 x 108 Ci
(11 EBq)

1.1 x 109 Ci
(41 EBq)

Potassium 40

300 pCi/L
(11 Bq/L)

2 x 1011 Ci
(7400 EBq)

9 x 1010 Ci
(3300 EBq)

3.8 x 1011Ci
(14000 EBq)

 Tritium

0.016 pCi/L
(0.6 mBq/L)

1 x 107 Ci
(370 PBq)

5 x 106 Ci
(190 PBq)

2 x 107Ci
(740 PBq)

 Carbon 14

0.135 pCi/L
(5 mBq/L)

8 x 107 Ci
(3 EBq)

4 x 107 Ci
(1.5 EBq)

1.8 x 108 Ci
(6.7 EBq)

 Rubidium 87

28 pCi/L
(1.1 Bq/L)

1.9 x 1010 Ci
(700 EBq)

9 x 109 Ci
(330 EBq)

3.6 x 1010Ci
(1300 EBq)

จากตารางพบว่าบนพื้นดินมีโพแทสเซียม-40 สูงสุดเท่ากับ 13 คูรี หรือร้อยละ 76 รองลงมาคือ เรเดียม-226 เท่ากับ 1.7 คูรี หรือร้อยละ10 ส่วนในมหาสมุทรมีโพแทสเซียม-40 สูงสุดเช่นเดียวกันคิดเป็นร้อยละ91 ดังนั้นอาหารที่มนุษย์ใช้บริโภคทุกวันนี้มีโพแทสเซียม-40 และ เรเดียม-226 ปนเปื้อนอยู่ในปริมาณมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและแหล่งที่มาของอาหารดังแสดงไว้ในตารางที่ 3

ตารางที่3 Natural Radioactivity in Food

 Food

40 K
pCi/kg

226 Ra
pCi/kg

Banana

3520

1

Brazil Nuts

5600

1000-7000

Carrot

3400

0.6-2

White Potatoes

3400

1-2.5

Beer

390

-----

Red Meat

3000

0.5

Lima Bean raw

4640

2-5

Drinking water

-----

0-0.17

จากตารางพบว่า Brazil Nuts มีโพแทสเซียม-40 และ เรเดียม-226 เท่ากับ 5600 และ 1000-7000 พิโกคูรี/กิโลกรัม. (pCi/kg) ซึ่งสูงกว่าอาหารชนิดอื่นสาเหตุอาจเนื่องมาจากว่า บราซิลเป็นประเทศที่มีรังสีพื้นหลังสูงสุด ตามพื้นดินและชายหาดจะพบสารรังสีในอนุกรมทอเรียมและแร่โมนาไซต์เป็นจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยนั้น สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ให้บริการตรวจวัดและออกใบรับรองปริมาณกัมมันตภาพรังสีในอาหารส่งออกหลายชนิด ได้แก่ ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง นมผง อาหารทะเล น้ำตาลทราย กาแฟ ข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง มะขามหวาน ถั่ว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่สำเร็จรูป เห็ด เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส น้ำปลา น้ำมันปลา สมุนไพร น้ำผลไม้ และ เครื่องดื่มชูกำลัง ผลการตรวจพบว่าอาหารส่วนใหญ่ไม่มีสารรังสี มีเพียงเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เท่านั้นที่ตรวจพบ ซีเซียม-137 แต่ปริมาณที่พบนั้นน้อยมากไม่เกิน 3 เบ็กเคอเรลต่อกิโลกรัม และอยู่ในระดับที่ปลอดภัย อาหารส่งออกของไทยจึงเป็นที่ยอมรับของนานาชาติในเวทีโลก โชคดีของคนไทยในสุวรรณภูมิแท้แท้

แหล่งข้อมูล
  • http:// physics. isu. edu / radinf / natural. htm
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 102 ( พ.ศ. 2529 ) เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีกัมมันตภาพรังสี