ยุคคลั่งไคล้รังสี

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            ค.ศ. 1895 เมื่อแรกที่เรินต์เกนค้นพบรังสีเอกซ์นั้น เขาเผยแพร่ผลงานโดยไม่จดสิทธิบัตร ทำให้ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แพทย์พากันเห่อและได้นำรังสีเอกซ์ไปใช้รักษาผู้ป่วยแทบทุกโรคเท่าที่จะนึกหาวิธีกันได้ เช่น การฉายเพื่อรักษาโรคผิวหนัง การให้รังสีแก่มดลูกกรณีประจำเดือนมากผิดปกติ และการวินิจฉัยด้วยเครื่องกำเนิดภาพรังสีหรือรังสีทรรศน์ (fluoroscope) โดยเครื่องในยุคแรก ๆ มีลักษณะเป็นกรวยกระดาษแข็ง ปลายเปิดด้านแคบสำหรับตามอง ส่วนปลายด้านกว้างมีชิ้นกระดาษแข็งเคลือบด้วยสารฟลูออเรสเซนซ์สำหรับให้เกิดภาพ อีกด้านของกรวยเป็นต้นกำเนิดรังสีเอกซ์ เมื่อต้องการตรวจสิ่งใดก็นำสิ่งนั้นมาวางคั่นตรงกลางก็จะได้ภาพราง ๆ มองเห็นได้

            ในสหรัฐอเมริกายังนิยมใช้รังสีเอกซ์ตรวจครรภ์เพื่อดูสภาพเด็กทุกเดือนจนกว่าจะคลอดว่าเด็กสมบูรณ์ดีหรือไม่ และคริสต์ทศวรรษ 1950 มีรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ไปตรวจวัณโรคให้เด็กนักเรียนตามโรงเรียนทั่วประเทศ

"...placing [his hand] between the fluoroscope and the X-ray tube...."

รังสีทรรศน์ในยุคแรก ๆ (http://home.gwi.net/~dnb/read/edison/edison_xrays.htm)

 

ต่อมายังมีการพัฒนารังสีทรรศน์ไปใช้ในทางการค้าโดยประมาณ ค.ศ. 1924 นายแคลเรนซ์ คาร์ ที่เมืองมิลวอกีประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประดิษฐ์เครื่องซึ่งน่าจะเรียกว่า “เครื่องตรวจความเหมาะเจาะของรองเท้า” (shoe-fitting fluoroscope สำหรับในประเทศอังกฤษเรียกว่า pedoscope) โดยนำไปใช้ตามร้านขายรองเท้าสำหรับเด็ก ลักษณะเป็นตู้ไม้สูงเมตรเศษ มีช่องให้สอดเท้าและด้านบนมีช่องมอง 3 ช่องสำหรับเด็ก ผู้ปกครอง และคนขายรองเท้า ซึ่งรังสีเอกซ์ในตู้จะทำให้เห็นสัมผัสระหว่างเท้ากับรองเท้าเพื่อให้เลือกรองเท้าได้เหมาะสม

เครื่องตรวจความเหมาะเจาะของรองเท้า และใบแจ้งผลตรวจ

(http://www.orau.org/ptp/collection/shoefittingfluor/shoe.htm)

           

            ต่อมาพบว่ารังสีทรรศน์ยุคแรก ๆ นี้ไม่ปลอดภัยจากรังสีจึงมีการพัฒนาต่อมาให้มีความปลอดภัย ส่วนเครื่องตรวจความพอเหมาะของรองเท้าถูกห้ามใช้ประมาณคริสต์ทศวรรษ 1960 และในอังกฤษเลิกใช้ในทศวรรษถัดมา

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมาดามคูรีค้นพบเรเดียมใน ค.ศ. 1898 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีและศึกษาวิธีนำมาใช้ทางการแพทย์ โลกตะวันตกยุคนั้นก็ถึงกับคลั่งไคล้รังสีกันอย่างหนัก คงเป็นเพราะว่ารังสีมีพลังงานจึงเชื่อกันว่าเมื่อนำรังสีมาใช้กับสิ่งของในชีวิตประจำวันก็น่าจะให้พลังงานแก่ร่างกายได้และทำให้สุขภาพดี ดังนั้นหลังจากที่เรเดียมหาง่ายขึ้นจึงมีผลิตภัณฑ์ที่แปลกประหลาดที่เกี่ยวกับสารกัมมันตรังสีออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอย่างมากมายจนไม่น่าเชื่อ

            เรเดียมนั้นเมื่อปล่อยรังสีต่าง ๆ แล้วก็แปรธาตุเป็นแก๊สเรดอนซึ่งก็ปล่อยรังสีแกมมา แอลฟา และบีตาเช่นกัน ค.ศ 1925 มีการอวดอ้างว่าเรดอนรักษาโรคได้ถึง 27 อย่าง ไม่ว่าเกี่ยวกับหัวใจ มะเร็ง ข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง วัณโรค อาการเจ็บหลัง อาการที่เกี่ยวกับตาบอด หอบหืด เริม แผลในกระเพาะ และแม้แต่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

            ต่อมาการใช้เรเดียมก็ระบาดเข้ามาในทางการค้าเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ แต่เนื่องจากเรเดียมมีราคาค่อนข้างแพง บางผลิตภัณฑ์ก็ลดต้นทุนมาใช้ยูเรเนียมหรือทอเรียมที่หาง่ายกว่า มีรังสีต่ำกว่า แต่ก็ให้แก๊สเรดอนเช่นกัน

ค.ศ. 1902 จอร์จ อีตัน ที่ชานเมืองแคลร์มอร์ มลรัฐโอคลาโฮมา ประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามจะขุดหาน้ำมัน แต่ได้น้ำที่มีกลิ่นเหม็นออกมาแทน การตรวจสอบพบว่าในน้ำมีสารกัมมันตรังสีที่สามารถรักษาโรคได้นานา ต่อมาบริเวณนี้จึงมีบังกะโลและโรงอาบน้ำเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดและกลายเป็นเมืองเล็ก ๆ ชื่อว่าเรเดียมทาวน์ (Radium Town)

                      

ขวดน้ำแร่ทำด้วยเซรามิก ของจริงสูงประมาณสี่นิ้วครึ่ง มีจำหน่ายในร้านของที่ระลึกของบังกะโล หรือวางในห้องพักสำหรับดื่มและเติมน้ำให้ทุกวัน (www.orau.org/)

 

หลังจากนั้นมาประมาณตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 น้ำที่มีสารกัมมันตรังสีก็เป็นที่นิยมจนมีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า น้ำเรเดียม ออกจำหน่าย โดยทำเป็นโถน้ำใบเขื่อง ด้านในโถน้ำอาจฉาบด้วยสารประกอบยูเรเนียม หรือเป็นโถน้ำเปล่า ๆ แต่มีก้อนสารประกอบขนาดประมาณ 4นิ้ว ×2นิ้วที่มีเรเดียมหรือยูเรเนียมผสม นำมาวางไว้ข้างในโถน้ำ เมื่อเติมน้ำลงไปก็จะได้น้ำที่มีแก๊สเรดอนละลายปนออกมา

Vitalizer Water Jar

Radium Vitalizer Health Fount

Thomas Radium C.R. Jar

Early and Unusual Revigator

โถน้ำโดยผู้ผลิตต่าง ๆ (www.orau.org/)

 

Striz Radium Rock (ca. 1930)

ก้อนสารประกอบเรเดียมสำหรับแช่ในน้ำ 1-2 แกลลลอน (www.orau.org/)

 

ราว ค.ศ. 1920 ในประเทศฮังการีมีร้านขนมปังชื่อว่าฮิปป์มันน์บลาคตั้งอยู่ที่ St. Joachimstal หรือ Jachymov (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐเช็ก) ใช้น้ำเรเดียมผสมกับแป้งผลิตขนมปังและเรียกชื่อสินค้าของตนว่าเป็นขนมปังเรเดียม

wpe7.gif (67288 bytes)

ถุงใส่ขนมปังเรเดียม (www.orau.org/)

 

            ในนิวยอร์กมีบริษัทผลิตยาชื่อว่า Associated Radium Chemists, Inc. เป็นผู้ผลิตยาที่เป็นส่วนผสมเรเดียมหลายชนิดและใช้ชื่อคล้าย ๆ กันตามแต่ว่าจะใช้อะไรเป็นกระสายยา กล่าวคือ เมื่อเป็นยาเม็ดใช้ชื่อว่า Arium เมื่อผสมในน้ำมันทาแก้ปวดเมื่อยใช้ชื่อว่า Linarium เมื่อผสมในขี้ผึ้งใช้ชื่อว่า Ointarium เมื่อผสมในยาสีฟันใช้ชื่อว่า Dentarium และใช้ชื่อว่า Kaparium สำหรับน้ำมันใส่ผม

Arium 1 ตลับบรรจุ 42 เม็ดราคาเพียง 1 ดอลลาร์อเมริกัน ละลายน้ำรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ใช้รักษาโรครูมาทอยด์ ประสาทอักเสบ ปวดประสาท และเกาต์ (www.orau.org/)

           

            ในย่อหน้าที่แล้วคงเห็นแล้วว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามียาสีฟันที่ผสมเรเดียมด้วย ซึ่งในยุโรปก็มีเช่นกัน ตัวอย่างที่หาได้คือในประเทศเยอรมนี เป็นยาสีฟันยี่ห้อโดรามัด (Doramad) ที่มีทอเรียมเป็นส่วนผสม และตรงนี้มีเกร็ดขำ ๆ เล็กน้อยพอให้เล่าสู่กันฟัง

 

หลอดยาสีฟันโดรามัด และฝอยโฆษณา

(http://soberswan.wordpress.com/2008/04/14/radioactive-toothpaste/)

 

ขณะนั้นเป็นช่วง ค.ศ. 1944 อันเป็นช่วงท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีโครงการผลิตลูกระเบิดอะตอมที่มีหัวหน้าโครงการชื่อว่า โกรฟส์ที่แปลว่าพุ่มไม้ และมีการยึดยูเรเนียมออกไซด์ของเอกชนที่ใช้ในการทำสีเคลือบเซรามิกให้เป็นสีแดง ๆ เหลือง ๆ เพราะถือว่าเป็นยุทธปัจจัย ขณะนั้นในประเทศเยอรมนีก็มีโครงการแบบเดียวกัน แล้วก็มีการยึดแร่ยุทธปัจจัยในประเทศยุโรปที่กองทัพนาซีบุกเข้าไปยึดครองไว้ได้เช่นกัน และสหรัฐได้ส่งหน่วยสืบลับชื่อว่า ALSOS (จากภาษากรีกแปลว่า พุ่มไม้ ตามชื่อของโกรฟส์) ติดตามดูว่าเยอรมนีจะผลิตลูกระเบิดอะตอมสำเร็จหรือไม่ แล้วก็พบว่าเมื่อกองทัพนาซีเข้ายึดครองฝรั่งเศส บริษัทเอาเออร์เกส์เซลชาฟท์ (Auer Gesselshaft) ที่มีส่วนในการผลิตยูเรเนียมได้เข้าไปยึดกิจการบริษัท Terres-Rares ซึ่งเป็นผู้ผลิตแรเอิร์ทและทอเรียม และมีการขนย้ายแร่ที่ใช้ผลิตทอเรียมจำนวนมหาศาลลงเรือกลับไปเยอรมนี อันน่าจะแสดงว่าเยอรมนีก้าวหน้าในการผลิตลูกระเบิดอะตอมไปมากเกินกว่าที่คาดไว้ แต่จากการสืบสวนต่อ ๆ มาเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรยึดคืนเมืองต่าง ๆ กลับมาได้เรื่อย ๆ กลับพบว่าบริษัทเอาเออร์เกส์เซลชาฟท์ทราบดีว่าสงครามใกล้ยุติแลธุรกิจยูเรเนียมของตนจะต้องยุติลงด้วย จึงเตรียมหันไปยังธุรกิจเครื่องสำอาง โดยเห็นว่ายาสีฟันผสมเรเดียมก็มีผลิตแล้ว จึงคิดจะผลิตยาสีฟันผสมทอเรียมมาแข่งและได้ถือโอกาสยึดเอาแร่ดังกล่าวมาจากฝรั่งเศส เรื่องก็มีเท่านี้เอง แต่ก็เล่นเอาสหรัฐอเมริกาต้องหัวปั่นอยู่เป็นปี

ความคลั่งไคล้สารกัมมันตรังสียังมีพิสดารอีกมาก ต่อไปนี้ตัวอย่างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะช่างคิดช่างสรรค์ผลิตกันขึ้นมาได้ และไม่มีจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน

ครีมทาหน้า (ฝรั่งเศส) (http://www.curie.fr)

 

 

ถุงยางอนามัย (http://www.pkmooney.com)

 

แท่งสอดในทวารหนักใช้ร่วมกับยาสำหรับเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

(http://www.orau.org)

เกลือละลายน้ำอาบ

(http://www.orau.org)

แผ่นแก้ปวด ตากแดดก่อนนำมาแปะไว้ที่หลัง

(http://www.orau.org)

หมอน ที่นอนเรดอน

(http://www.orau.org)

 

อย่างไรก็ดี แม้แต่ในศตวรรษที่ 21 นี้ก็ยังสีสินค้าที่มีสารกัมมันตรังสีผสมอยู่ด้วยซึ่งโดยมากเป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่น ขอยกตัวอย่างเพียง 3 ชนิดจากเว็บไซต์ http://www.orau.org เช่นเคย

ตัวดับกลิ่นในตู้เย็น

สอดแผ่นนี้ในซองบุหรี่ 20 นาทีจะลดทาร์และนิโคตินได้ 17 เปอร์เซ็นต์

 

 

เครื่องดื่มที่วางบนแผ่นรองนี้จะถูกทำให้มีการแตกตัวเป็นไอออนและมีรสชาติดีขึ้น

 

เชื่อว่าโลกนี้คงยังผู้คลั่งไคล้รังสีอีกมากที่กำลังรอใช้ผลิตภัณฑ์รังสีใหม่ ๆ ที่คงมีผลิตออกมาอีกเรื่อย ๆ