อะตอมสองศตวรรษ
สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กว่าสองพันปีก่อน อะตอมเป็นเพียงหลักปรัชญาของชาวกรีก และเป็นเช่นนั้นมาจนราวสี่ร้อยปีก่อน ที่ “ วิทยาศาสตร์” เริ่มต้นขึ้นในช่วงชีวิตของกาลิเลโอเมื่อราวสี่ร้อยปีก่อน จากนั้นอะตอมก็เริ่มเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเริ่มเชื่อกันว่า อะตอมมีอยู่จริง นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ทฤษฎีอะตอมสมัยใหม่ ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างโดยจอห์น ดอลตัน (John Dalton) ผู้ได้ชื่อว่า บิดาแห่งทฤษฎีอะตอมทางเคมี (father of chemical atomic theory) และเหตุการณ์นั้นเริ่มต้นในราว ค.ศ. 1803 อันเป็นปีที่ดอลตันเริ่มเผยแพร่แนวคิดว่าด้วยอะตอมของเขา

http://www.nndb.com/people/278/000049131/

ดอลตันเป็นนักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เกิดวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1766 ที่อีเกิลสฟีลด์ ในวัยหนุ่มเขาได้ย้ายไปที่เมือง แมนเชสเตอร ์และอาศัยอยู่จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเขาถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 1844 รวมอายุได้ 78 ปี

ที่แมนเชสเตอร์ ดอลตันเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคมวรรรณกรรม และปรัชญา (Literary and Philosophical Society) เมื่อปี 1794 ซึ่งภายในไม่กี่สัปดาห์ ดอลตันก็เสนอบทความแรกของเขา เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ ตาบอดสี” ที่ได้สังเกตจากประสบการณ์ของตัวเองที่สายตาของเขาแยกสีได้เฉพาะสีฟ้ากับสีม่วงเท่านั้น ทำให้โลกรับรู้ว่ามีคนตาบอดสีอยู่บนโลกใบนี้และคำว่า colour blindness ก็เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า Doltonism หลังจากนั้นเขาก็มีบทความออกมาเรื่อย ๆ ในหลากหลายสาขาทั้ง แสง ความร้อน สีของท้องฟ้า รวมทั้งเรื่องของ ฝน น้ำค้าง ไอน้ำ และแม้แต่ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ

ค.ศ. 1800 ดอลตันได้รับตำแหน่งเลขาธิการของสมาคมฯ จากนั้นเขาก็เริ่มเสนอบทความหลายเรื่องจากผลการทดลอง เกี่ยวกับการผสมกันของแก๊ส ความสัมพันธ์ระหว่างการดึงดูดกันและการขยายตัวของไอน้ำและแก๊สอื่น ๆ กับอุณหภูมิ ที่ทำให้เขาพบ “ กฎความดันย่อย” (law of partial pressures ) หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “ กฎของดอลตัน” ( Dalton’s law)

ก่อนหน้าดอลตันไม่นาน ลาวัวซีเย (Lavoisier : ค.ศ. 1743-1794) นำการชั่ง ตวง วัด มาใช้กับการทดลองเกี่ยวกับ การเผาไหม้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาเคมีมีสัดส่วนของสารที่มาทำปฏิกิริยากันที่แน่นอน ดังนั้น ในช่วง ค.ศ. 1800 เป็นต้นมา นักเคมีจึงพากันศึกษาว่าธาตุใดทำปฏิกิริยากับอีกธาตุหนึ่งด้วยสัดส่วนเท่าใด เช่น โซเดียม 46 กรัม จะทำปฏิกิริยาพอดีตายตัวกับคลอรีน 71 กรัมได้เป็นเกลือแกง 117 กรัม และมีการตีพิมพ์เผยแพร่กันออกมามากมาย

ดอลตันก็ศึกษาในทำนองเดียวกันนี้ โดยเมื่อเขาสังเกตเกี่ยวกับน้ำหนักของแก๊สที่นำมาผสมกันในอัตราส่วนที่ตายตัว ว่าทำปฏิกิริยาเกิดเป็นแก๊สชนิดใหม่เท่าใด เช่นเมื่อจำกัดปริมาตรของแก๊สไฮโดรเจนไว้ปริมาตรหนึ่ง แล้วเติมแก๊สออกซิเจน เข้าไป แก๊สสองอย่างนี้จะทำปฏิกิริยากันเกิดเป็น “ น้ำ” ที่มีน้ำหนักคงที่ไม่ว่าจะเติมแก๊สออกซิเจนเข้าไปมากเท่าใดก็ไม่มีผล เว้นแต่จะเติมแก๊สไฮโดรเจนลงไปด้วยจึงจะได้น้ำเพิ่มขึ้น จากผลงานที่ผู้อื่นตีพิมพ์ไว้รวมกับการศึกษาการผสมกันของแก๊ส ของตนนี่เอง ที่ดอลตันได้พัฒนามาเป็นทฤษฎีอะตอมทางเคมี

ดอลตันได้นำทฤษฎีอะตอมที่เป็นเพียงปรัชญาของชาวกรีกมาปัดฝุ่นโดยมีผลการทดลองรองรับ โดยเสนอว่าสสารต่าง ประกอบขึ้นจากอะตอม และมีแรงที่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก ทำหน้าที่ดึงดูดอะตอมเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน โดยเขาได้เขียน สรุปตารางน้ำหนักอะตอมของธาตุและสารประกอบง่าย ๆ ไว้ในสมุดโน้ตลงวันที่ 3 กันยายน 1803 และต่อมาก็เขียนลงใน ความเรียงว่าด้วยเมื่อน้ำดูดกลืนแก๊ส ( Essay on the absorption of Gases [by Water]) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกัน แต่พิมพ์เผยแพร่จริง ๆ ในปี 1905 น้ำหนักอะตอมของธาตุดังกล่าวนี้ เป็นน้ำหนักสัมพัทธ์ (relative weight) ซึ่งดอลตัน กำหนดให้น้ำหนักของอะตอมไฮโดรเจนเท่ากับ 1 จากนั้นก็นำสัดส่วนการทำปฏิกิริยากัน ทั้งจากที่นักเคมีอื่นตีพิมพ์ ์และที่ดอลตันทดลองเอง มาคำนวณว่าอะตอมธาตุอื่น ๆ และสารประกอบง่าย ๆ อื่น ๆ หนักเป็นกี่เท่าตัวของอะตอมไฮโดรเจน โดยทำเป็นตารางไว้รวม 21 ชนิด

Element or Compound

Relative Weight

Hydrogen

1

Azote

4.2

Carbone

4.3

Ammonia

5.2

Oxygen

5.5

Water

6.5

Phosphorus

7.2

Phosphuretted hydrogen

8.2

Nitrous gas

9.3

Ether

9.6

Gaseous oxide of carbone

9.8

Nitrous oxide

13.7

Sulphur

14.4

Nitric acid

15.2

Sulphuretted hydrogen

15.4

Carbonic acid

15.3

Alcohol

15.1

Sulphureous acid

19.9

Sulphuric acid

25.4

Carburetted hydrogen from stagnant water

6.3

Olefiant gas

5.3

อย่างไรก็ดี ต้องรอถึงปี 1808 ที่ดอลตันเขียนถกถึงวิธีหาน้ำหนักของอะตอมในทฤษฎีเกี่ยวกับบรรยากาศและพฤติกรรม ของแก๊ส เอาไว้ในหนังสือชื่อว่า A New System of Chemical Philosophy และเขียนถึงทฤษฎีอะตอมเอาไว้ในหน้าท้าย ๆ ของหนังสือ โดยสรุป เขาเขียนไว้ว่า

1. ธาตุทางเคมีทั้งหลายประกอบขึ้นจากอะตอม

2. อะตอมทั้งหลายของธาตุหนึ่งมีมวลเท่ากันทุกประการ

3. อะตอมของคนละธาตุมีมวลไม่เท่ากัน และ

4. อะตอมย่อมรวมกันเป็นจำนวนน้อยในสัดส่วนที่เป็นจำนวนเต็ม เช่น 1:1 1:2 2:3 ฯลฯ

5. อะตอมไม่สามารถสร้างขึ้นได้ แบ่งแยกให้เป็นอนุภาคที่เล็กลง หรือทำลายลง ด้วยกระบวนการทางเคมี ย่อมไม่ได้ โดยปฏิกิริยาเคมีเพียงเปลี่ยนแปลงการที่อะตอมมาจับเข้าด้วยกันเท่านั้น

ทฤษฎีอะตอมทางเคมีของดอลตันไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ดังในข้อ 2 ซึ่งปัจจุบันเราทราบแล้วว่าอะตอมของธาตุเดียวกัน มีมวลไม่เท่ากันก็ได้ ที่เรียกว่า ไอโซโทป เช่น ไฮโดรเจนมี 3 ไอโซโทปที่มีมวลไม่เท่ากัน ได้แก่ ไฮโดรเจนธรรมดา ( 1H) ดิวเทอเรียม (D หรือ 2H) และทริเทียม (T หรือ 3H) และในข้อ 5 ก็ไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด เพราะปัจจุบันมีการค้นพบ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นที่นิวเคลียสของอะตอม เช่น การแบ่งแยกนิวเคลียส (nuclear fission) ที่มีผลให้อะตอม ถูกแบ่งแยกได้ แต่ดอลตันก็ยังถูกต้องที่ว่าจะแบ่งแยกอะตอมไม่ได้ด้วยปฏิกิริยาเคมี

อีกเรื่องที่สำคัญในหนังสือเล่มนี้ คือ ดอลตันเป็นคนแรกที่คิดใช้สัญลักษณ์มาตรฐานขึ้นมาแทนอะตอมของธาตุ และอะตอม ธาตุใดจำนวนกี่อะตอม ที่มารวมกันเป็นสารประกอบใด

ผลงานเกี่ยวกับน้ำหนักอะตอมของดอลตันทำให้เขาได้รับเกียรติโดยมีการใช้หน่วยของน้ำหนักอะตอมเป็น “dalton” อยู่นาน ปัจจุบันหลงเหลือใช้อยู่ในวงการชีวเคมี เช่นใช้กับน้ำหนักของโปรตีน สำหรับผลงานเกี่ยวกับอะตอมเขาก็ได้รับเกียรติว่าเป็น “ บิดาแห่งทฤษฎีอะตอมทางเคมี”

แม้ดอลตันจะเริ่มพูดถึงอะตอมเรื่อยมาต่างกรรมต่างวาระมาตั้งแต่ ค.ศ. 1803 แต่เขาตีพิมพ์แนวคิดทฤษฎีอะตอมของเขา อย่างเป็นทางการในหนังสือ A New System of Chemical Philosophy ดังกล่าวแล้วเมื่อปี 1808 จึงถือได้ว่า...

ตามทฤษฎีอะตอมสมัยใหม่ของดอลตัน

อะตอมมีอายุครบ 200 ปีี ในปี 2008 นี้เอง