STKC

ชื่อนี้มีที่มา (10)
โครงการแมนแฮตตัน (Manhattan Project)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

แม้ว่าชื่ออย่างเป็นทางการและตามกฎหมายของโครงการลูกระเบิดอะตอมจะมีชื่อว่า “มณฑลทหารแมนแฮตตัน” (Manhattan District) ทว่าชื่อที่มักเรียกกันมากกว่าก็คือ “มณฑลทหารช่างแมนแฮตตัน” (Manhattan Engineer District ย่อว่า MED) และคำว่า “โครงการแมนแฮตตัน” ก็เป็นชื่อทางการอีกชื่อหนึ่งที่แพร่หลาย

โดยที่ “กองทัพน้อยทหารช่าง” (Army Corps of Engineer) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการลูกระเบิดอะตอมทั้งหมด และเดิม กองทัพน้อยก็ยังแบ่งออกเป็นหลายมณฑลทหารอยู่ก่อน จึงเป็นธรรมดาว่าองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้กองทัพน้อยเพื่อจัดการ กับโครงการนี้จึงเป็นมณฑลทหารที่ตั้งขึ้นใหม่ และ ตามปกติมณฑลทหารเหล่านี้ก็ตั้งชื่อตามชื่อเมืองอันเป็นที่ตั้ง สำหรับผู้ที่ รับผิดชอบการก่อตั้งหรือการวางโครงสร้างองค์กรของโครงการก็คือ พันเอก เจมส์ มาร์แชล (Colonel James Marshall) ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารเซียราคิวส์ (Syracuse District)

พันเอก เจมส์ ซี. มาร์แชล

พันเอก เลสลีย์ อาร์. โกรฟส์

ชื่อมณฑลทหารแมนแฮตตันได้รับเลือกในการพบปะกันระหว่างมาร์แชลกับ พันเอก เลสลีย์ โกรฟส์ (Colonel Leslie Groves) ซึ่งต่อมาจะเป็นผู้รับช่วงหน้าที่บริหารควบคุมโครงการในเวลาต่อมา โดยภายหลังโกรฟส์ได้อธิบายไว้ในหนังสือชื่อว่า Now it Can be Told ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1962 ว่า “หลังจากถกเถียงกันสักพักว่าจะใช้ชื่อ “นอกซ์วิลล์” ( Knoxville) ดีหรือไม่ แล้วพวกเราก็ตกลงกันว่าจะใช้ชื่อว่า “แมนแฮตตัน” เนื่องจากว่าสำนักงานใหญ่ของมาร์แชลในตอนแรก ๆ นั้น จะตั้งอยู่ใน นครนิวยอร์ก ”

สำนักงานที่โกรฟส์กล่าวถึงนั้นตั้งอยู่เลขที่ 270 บรอดเวย์ ใกล้มากกับศาลาว่าการนครนิวยอร์ก และอยู่คนละฝั่งกับ สวนสาธารณะแห่งหนึ่งซึ่งมีอนุสาวรีย์ของมารี กูรี (Marie Curie) และเพียงไม่กี่เดือนสำนักงานใหญ่ของมณฑลทหาร แมนแฮตตันก็ย้ายไปยังอาคารที่มีชื่อว่า “ปราสาท” ที่โอกริดจ์ มลรัฐเทนเนสซี ชื่อหลังนี้แปลงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กองทัพน้อยทหารช่างใช้สัญลักษณ์เป็นรูป “ปราสาท”

สำนักงานใหญ่ของโครงการแมนแฮตตันแห่งแรกที่ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาว่าการนครนครนิวยอร์ก (http://keywords.oxus.net/archives/ 2007/10/30/ the-manhattan-project/ )

ป้ายบอกตำแหน่งที่คาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของโครงการแมนแฮตตันที่ดอกริดจ์

สัญลักษณ์ของกองทัพน้อยทหารช่างสหรัฐอเมริกาเป็นรูปปราสาทมี 3 ป้อม

ในตอนแรกมาร์แชลแย้งว่าควรใช้ชื่อโครงการว่า “การพัฒนาวัสดุทดแทน” หรือเรียกตามตัวย่อว่า “ดีเอสเอ็ม” (Development of Substitute Materials ย่อว่า DSM) แต่โกรฟส์ท้วงว่า เขารู้สึกว่าชื่อนี้ดึงดูดความสงสัยมากเกินไป อย่างไรก็ดี แม้โกรฟส์จะทำให้ชื่อนี้ตกไป แต่อย่งน้อยก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่โครงการลูกระเบิดอะตอมมีชื่อที่ผู้คนเรียกกันทั้ง ดีเอสเอ็ม และ มณฑลทหารแมนแฮตตัน

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: Manhattan Project โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 23 เมษายน 2552)