STKC

ชื่อนี้มีที่มา (14)
เร็ม (REM)

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“เร็ม” (rem) เป็นหน่วยเดิมที่ใช้วัดปริมาณรังสีสมมูล โดยป็นผลคูณระหว่างปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) ที่มีหน่วย เป็น “แร็ด” กับค่าปรับเทียบที่แตกต่างกันตามชนิดและพลังงานของรังสี (relative biological effect)

สำหรับรังสีเอกซ์หรือแกมมา ค่าปรับเทียบมีค่าใกล้เคียงกับ 1 กล่าวคือ เมื่อรังสีชนิดก่อไอออนชนิดใดก็ตามที่ก่อให้เกิดผล ทางชีวภาพต่อเซลล์ที่มีชีวิตเทียบเท่ากับการรับรังสีเอกซ์หรือแกมมา 1 แร็ด ก็เรียกว่าได้รับปริมาณรังสีสมมูล 1 เร็ม ปัจจุบัน หน่วยเร็มนี้ใช้หน่วย “ซีเวิร์ต” แทน โดย 1 ซีเวิร์ตเท่ากับ 100 เร็ม

อันที่จริงหน่วย “เร็ม” นี้ก็เคยแทนที่หน่วยอื่นคือ “เร็บ” (reb) มาก่อน เรื่องเป็นดังนี้

ค.ศ. 1950 เฮอเบิร์ต เอ็ม. พาร์เกอร์ (Herbert M. Parker) เขียนไว้ในวารสาร Radiology เป็นบทความชื่อ Tentative Dose Units for Mixed Radiations โดยเขียนไว้ว่า ตัวเขาเองเริ่มใช้หน่วย “เร็ม” มาตั้งแต่ต้นปี 1945 แต่ครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งแรกที่เขา นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ โดยเฮอร์เบิร์ตได้อธิบายความหมายของ “เร็ม” และอีกหน่วยหนึ่งที่เขาคิดขึ้นใช้เช่นกัน ก็คือ “เร็บ” (reb หน่วยนี้เป็นต้นตระกูลของหน่วย “แร็ด” หรือ “rad”) ความว่า “ rep” เป็นตัวย่อของ roentgen equivalent physical ส่วน “rem” ก็เป็นตัวย่อของ roentgen equivalent man หรือ roentgen equivalent mammal เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะเลือกใช้หน่วย “reb”(roentgen equivalent biological) ที่ทำให้เกิดความสับสนในการออกเสียงระหว่าง “rep” กับ “reb”

ต่อมา ค.ศ. 1986 รอน แคทเรน (Ron Kathren) ได้อธิบายความเห็นของพาร์เกอร์เกี่ยวกับ “ความสับสนในการออกเสียง” ไว้ใน Publications and Other Contributions to Radiological and Health Physics ดังนี้ “หน่วยนี้ ( rem) เมื่อแรกใช้ว่า “reb” (roentgen equivalent biological) แต่ครั้งหนึ่งในระหว่างการบรรยายครั้งแรก ๆ ของพาร์เกอร์เกี่ยวกับหน่วยใหม่ เขาเป็นหวัดอย่างแรงทำให้มีปัญหาในการออกเสียงให้ต่างกับหน่วย “rep” ดังนั้น จึงเปลี่ยนชื่อของหน่วยนี้มาเป็น “rem””

เรียบเรียงจาก The Origin of Selected Radiological and Nuclear Terms: REM โดย Paul W. Frame (Oak Ridge Associated Universities )

(เผยแพร่ : 29 เมษายน 2552)