STKC 2553

ฉายาดำเนินฟิสิกส์ของอนุภาค

Particle Physics Photowalk

สุรศักดิ์  พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ด่วน มีข่าวดีสำหรับ นักถ่ายภาพสมัครเล่น มาบอก วันที่ 7 สิงหาคม 2553 นี้ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของ อนุภาค (particle physics laboratories) ชั้นนำของโลกจำนวน 5 แห่ง พร้อมใจกันเปิดให้ช่างภาพมือใหม่ทั่วโลก เข้าไปเดินถ่ายภาพเครื่องเร่งอนุภาคได้โดยพร้อมเพรียงกัน รายการนี้ใช้ชื่อว่า Particle Physics Photowalk ซึ่งแปลเป็นไทยพอให้ครึกครื้นตามที่จั่วหัวเรื่องว่า ฉายาดำเนินฟิสิกส์ของอนุภาค ซึ่งตรงคำว่า “ฉายาดำเนิน” ถอดศัพท์เอาเองมาจากภาษาอังกฤษว่า photowalk ส่วนคำว่า ฟิสิกส์ของอนุภาค เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า particle physics

ห้องปฏิบัติการเจ้าบ้านทั้ง 5 แห่งนี้ ได้แก่

  • CERN ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปีกลายที่นี่ถูกกล่าวขวัญมาก ที่จะทดลองจำลองหลุมดำด้วยเครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron collider ( LHC ) และผู้คนวิตกกันว่าจะทำให้โลกของเราถูกดูดหายไปด้วย (รับ 48 คน)
  • DESY ที่เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี รายนี้เป็นเจ้าแรกที่จัดรายการฉายาดำเนินเมื่อปีที่แล้ว จนเป็นที่ติดอกติดใจและเกิดมีรายการอย่างนี้ในปีนี้รวดเดียว 5 แห่ง (รับ 60 คน)
  • Fermilab เมืองอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (รับ 50 คน)
  • KEK เมืองซึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น (รับ 40 คน) และ
  • TRIUMF ตั้งอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา (รับ 40 คน) ที่เพิ่งจัดฉายาดำเนินไปเมื่อเดือนมิถุนายน ปีนี้เอง

DESY

TRIUMF

งานนี้เป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับตากล้องมือใหม่กว่า 200 คนที่จะได้หามุมกล้องเหมาะ ๆ ตามจินตนาการของตน เพื่อถ่ายภาพเครื่องเร่งอนุภาคและเครื่องมือวัดล้ำยุคหลายหลาก และที่เขาเปิดให้ถ่ายรูปคราวนี้ เป็นส่วนที่ตามปกติ ไม่ได้เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเข้าชม แต่ข่าวรั่ววงในกระซิบมาว่า ที่ CERN จะไม่สามารถเปิดให้เข้าถ่ายภาพได้ไม่จำกัด รวมทั้งในห้องควบคุม (control room)

สำหรับช่างภาพมือใหม่ท่านใดที่สนใจโอกาสดี ๆ อย่างนี้ แต่ลงทุนตีตั๋วเครื่องบินบ้าง ก็ลองดูรายละเอียดได้จาก http://www.interactions.org/cms/?pid=1029665 แต่ถ้าท่านใดที่ยังลังเล ลองเข้าไปดูภาพถ่ายจาก 2 งานก่อนทั้งที่ DESY และ TRIUMF ได้ที่ http://www.flickr.com/photos/interactions_photos ได้เห็นรูปพอเป็น "น้ำจิ้ม” เด็ด ๆ แล้วท่านอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้

อ้อ ! สำหรับตัวเจ้ากี้เจ้าการให้เกิดงานนี้ได้ก็คือ InterAction collaboration ซึ่งเป็นสื่อกลางทรัพยากรของวงการ ฟิสิกส์ของอนุภาค สนใจเว็บไซต์ของเขาดูได้ที่ http://www.interactions.org/cms/?pid= 1000025