Nuclear Science
STKC 2554

คุณค่าของแหล่งผลิต

บุญสม พรเทพเกษมสันต์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม เราจึงมีพืช ผัก ผลไม้ที่เราปลูกได้เองมากมายหลายอย่าง บางชนิดปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย ต่างก็รู้กันดีว่าชนิดใดควรเลือกซื้อจากแหล่งไหน อยากจะได้ลองกองชั้นเลิศ รสหวาน ต้องลองกองตันหยงมัส เงาะนาสาร มังคุดคีรีวงศ์ ลิ้นจี่อัมพวา กระท้อนบางกรวย ทุเรียนเมืองนนท์ ส้มบางมด พริกไทยเมืองจันท์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา และอื่น ๆ อีกหลากหลาย นี่เองคือความหมายของ “คุณค่าของแหล่งผลิต (Values of Origin)”


ในท่ามกลางกระแสเรียกร้องถึงอาหารปลอดภัย ต้นทางของผลผลิตจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ทราบถึง แหล่งที่เกิดการปนเปื้อน โดยเฉพาะสารพิษสุดคลาสสิกอย่างสารฆ่าแมลง ดีดีที และแหล่งที่เกิดการปลอมปน ซึ่งเป็น การผสมสิ่งอื่นลงไป เพื่อลดต้นทุน อีกนัยหนึ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้บริโภค ดังเหตุการณ์นมผงผสมสารเมลามีน นอกจากความสำคัญของแหล่งผลิตในแง่ความสะอาด ปลอดภัยแล้ว ยังโยงไปถึงการพิทักษ์สิทธิของผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกด้วย


ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในบ้านเรา ลองสังเกตแผงขายผลไม้แทบทุกแผงที่ขายลองกอง ต่างร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็น ของแท้จากตันหยงมัส ผู้ซื้อต้องชั่งใจเองว่า ใช่หรือไม่ใช่ บ่อยครั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่ใช่  นอกจากนี้ชาวสวนตันหยงมัส ตัวจริงเสียงจริง ก็ถูกอ้างสิทธิ์โดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตามไปด้วย


ในปัจจุบันนี้ บรรดาประเทศในแถบยุโรป หรืออียู ได้ร่วมมือกันขึ้นทะเบียนรายการผลผลิตที่ได้รับการการันตีว่ามาจาก แหล่งผลิตที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสุดยอดของผลผลิตนั้น ๆ เอาไว้ ผลผลิตทั้งหลายทั้งปวง ไม่เพียงเฉพาะที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ แต่ยังรวมเอาผลผลิตที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะถิ่น หรือเรียกกันว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ผนวกรวมไว้ ในรายการด้วย แน่นอนต้องหมายรวมถึงชีสจากซาดีนา (อิตาลี) เนยจากบาวาเรีย (ออสเตรียและเยอรมัน) และไวน์จาก บอร์โดซ์ (ฝรั่งเศส) และวาเลนเซีย (อิตาลี) ถ้าจะเทียบกับของไทยก็ต้อง น้ำตาลมะพร้าวสมุทรสงคราม หมูยอเมืองอุบล หม้อแกงเมืองเพชร ขนมสาลี่เมืองสุพรรณ หรือเฉาก๊วยชากังราว


ในการตรวจสอบว่าผลผลิตนั้น เป็นของแท้ตามคำกล่าวอ้างหรือไม่ สามารถใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ได้หลายอย่าง รวมทั้งเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในหลายประเทศ เริ่มต้นเราต้องเข้าใจ ก่อนว่า แม้ผลไม้หรือพืช ผักจะเป็นชนิดและสายพันธุ์เดียวกัน แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ต่างกัน ย่อมได้รสชาติ ที่แตกต่างกัน ที่เป็นเช่นนี้ เป็นผลมาจากฤดูกาล อากาศ แร่ธาตุในดินและน้ำ คล้าย ๆ กับ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง แต่เรา จะสนใจเฉพาะอากาศและแร่ธาตุในดินเป็นหลัก คำว่าอากาศ ในทางเคมีหมายถึง แก๊สต่าง ๆ อาทิ ออกซิเจน (O2) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไนโตรเจน (N2) และไฮโดรเจน (H2) ถัดมาคำว่าแร่ธาตุในดิน ได้แก่ ธาตุปริมาณน้อย ธาตุโลหะหนัก และธาตุกัมมันตรังสีในธรรมชาติ (อาทิ พวกที่อยู่ในอนุกรมยูเรเนียมและทอเรียม) ซึ่งในธรรมชาติ พืชจะ ดูดซึมเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาเก็บไว้ในตัว ตรงตามคำกล่าวที่ว่า “กินอะไร ได้อย่างนั้น”


ที่นี้ถ้าหากเราสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ว่า ผลผลิตจากแหล่งผลิตจริงนั้น มีธาตุหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่สามารถชี้ ออกมาถึงความ ”ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครมี (unique)” เก็บผลที่ได้ไว้ในฐานข้อมูล เมื่อไรก็ตามที่มีการ ตรวจสอบ เราก็จะระบุได้ทันทีว่า ผลผลิต ”ต้องสงสัย” มาจากแหล่งผลิตตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ในการวิเคราะห์ด้วย เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ จะใช้การวิเคราะห์อัตราส่วนระหว่างธาตุกัมมันตรังสีกับธาตุเสถียร (stable isotope ratio) คือ 13C/12C; 18O/16O; 2H/1H และ 15N/14N ซึ่งพืชได้รับอิทธิพลจากอากาศ สำหรับธาตุปริมาณน้อย ธาตุโลหะหนัก ใช้วิธีที่เรียกว่า Instrumental Neutron Activation Analysis (INAA) วิธีนี้มีความพิเศษตรงที่ใช้ตัวอย่างปริมาณน้อย แต่ให้ผลที่ถูกต้อง แม่นยำ และมีสภาพไวสูง


ลองดูตัวอย่างผังด้านล่าง ซึ่งแสดงการวิเคราะห์แหล่งผลิตของไวน์ชนิดต่าง ๆ จากวาเลนเซีย ประเทศอิตาลี (Gonzalvez A., et al 2009) จะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้ธาตุปริมาณน้อยในไวน์ เป็นสิ่งบ่งชี้ที่สำคัญ

ผลผลิตของไทยที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มอียู ซึ่งเป็นคู่ค้ารายสำคัญในการตรวจสอบการปลอมปน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวระดับพรีเมียม เราเองรู้กันดีว่า ข้าวหอมมะลิที่ดีสุดยอดของความหอม นุ่ม รสชาติละมุนลิ้น ต้องเป็น ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลา ดังที่ยกตัวอย่างมาในตอนต้น ทุ่งกุลาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ห้าจังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ และยโสธร


ในปัจจุบัน หน่วยงานของอียู ที่มีชื่อเรียกว่า ยูโรฟินส์ (Eurofins) ใช้วิธีตรวจสอบจากสายพันธุ์ดีเอ็นเอ เพื่อจำแนก ความต่างระหว่างข้าวหอมมะลิกับข้างหอมปทุม ซึ่งอียูกำหนดให้ข้าวหอมปทุมไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทย หรือไม่สามารถ ใช้คำว่า Thai Jasmine rice หรือ Hom Mali ได้ สำหรับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ ดำเนินงานวิจัยในการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ถึงแหล่งผลิตของข้าวหอมมะลิไทยเช่นกัน ทั้งนี้โดยประยุกต์ใช้เทคนิค เชิงนิวเคลียร์ อันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับสากล


สังคมมนุษย์คงไม่ต้องมีหน่วยงาน แผนงานหรือวิธีการใด ๆ ที่ใช้สำหรับตรวจสอบการฉ้อฉล หลอกลวง อีกต่อไป หากทุกคนในสังคมเข้าใจและรู้ซึ้งถึงคำว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่แค่คำกล่าวเลื่อนลอย สีจาง ๆ ในกระดาษเท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

          A. Gonzalvez, S. Amenta and M. de la Guardia Trace-element composition and stable-isotope ratio for discrimination of foods with Protected Designation of Origin Trends in Analytical Chemistry, Vol. 28, No. 11, 2009 , 1295-1311.
โพสต์เมื่อ : 7 ธันวาคม 2553