Nuclear Science
STKC 2554

ไขลึกปริศนาลับจากภาพวาด…..ด้วยเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์

ดร. สุวิมล  เจตะวัฒนะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          บางครั้งสิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า อาจซ่อนสิ่งอื่นที่แตกต่างไว้ภายใน เมื่อศิลปะจากศตวรรษที่ 19 มาพบเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็อาจเป็นไปได้ การนำภาพวาดจากตวรรษที่ 19 มาวิเคราะห์ใหม่ ทำให้ทราบว่า เดิมทีจิตรกรได้เลือกที่จะให้หญิงสาวมีผมสีบลอนด์และคาดผมด้วยริบบิ้นสีม่วง ก่อนที่จะระบายทับลงไปด้วยสีน้ำตาลเข้มที่ให้ความรู้สึกสงบ และไม่มีเครื่องประดับตกแต่ง

          วิธีปฏิบัตินี้เรียกกันว่า pentimento (มาจากภาษาอิตาลี pentirsi ที่แปลว่า กลับใจหรือสำนึกผิด) เป็นการดัดแปลงภาพวาดให้เปลี่ยนไป พิสูจน์ให้เห็นหลักฐานด้วยการสืบหาร่องรอยของภาพเดิม แสดงให้เห็นว่าจิตรกรได้เปลี่ยนใจระหว่างการวาดภาพนั้น

          Matthias Alfeld แห่งมหาวิทยาลัย Antwerp ประเทศเบลเยียม ผู้นำเสนอผลการค้นพบของเขาใน American Chemical Society ซึ่งจัดขึ้นที่ เมือง Anaheim มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 27-31 มีนาคม 2011 กล่าวว่า การดัดแปลงภาพวาดให้ปลี่ยนไปจากเดิม เป็นสิ่งที่ไม่ได้พบได้ทั่วไป ตัวอย่างที่ไม่ธรรมดานี้เผยให้เห็นด้วยเทคนิค scanning macro-x-ray fluorescence ซึ่งกระทำที่สถาบัน German Electron Synchrotron (Deutsches Elektronen Synchrotron; DESY) เมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี เมื่อภาพวาดถูกกระตุ้นด้วยลำของรังสีเอกซ์ องค๋ประกอบทางเคมีในภาพวาดจะเปล่งรังสี (fluoresce) ออกมา และถูกตรวจจับได้ด้วยเครื่องตรวจวัด (detector) แสดงให้เห็นรงควัตุที่ซ่อนอยู่ภายในโดยไม่ต้องทำลายงานศิลปะชิ้นนั้น

          เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (X-Ray Fluorescence Spectrometry หรือ XRF) เป็น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ อย่างหนึ่ง ที่ใช้ในการวิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของธาตุในสารตัวอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพที่เป็นของแข็ง ของเหลว หรือสารแขวนลอย โดยอาศัยการให้รังสีเอกซ์พลังงานสูงแก่ชิ้นงานที่จะตรวจสอบ ทำให้เกิดการแตกตัวของอะตอม ที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในวัสดุนั้น จนกระทั่งอิเล็กตรอนหลุดออกไป เมื่ออิเล็กตรอนหลุดออกจากอะตอม จะทำให้โครงสร้างทางไฟฟ้าของอะตอมมีการเปลี่ยนแปลง อิล็กตรอนที่อยู่ในวงโคจร (orbital) ที่มีพลังงานสูงกว่า ก็จะร่วงลงมาอยู่ในวงโคจรที่มีพลังงานต่ำกว่าเพื่อทดแทนอิเล็กตรอนที่สูญเสียไป การย้ายวงโคจรแบบนี้ ทำให้มีการปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของโฟตอน (photon) วัสดุจึงมีการเปล่งรังสีออกมาและถูกตรวจวัดได้ ด้วยเครื่องตรวจวัด โฟตอนที่ถูกปล่อยออกมาจากธาตุต่างชนิดในชิ้นงาน จะมีความยาวคลื่นหรือพลังงานที่จำเพาะ สำหรับธาตุชนิดนั้น ๆ จึงทำให้สามารถบอกชนิดของธาตุที่มีอยู่ในตัวอย่างได้ คำว่า ฟลูออเรสเซนซ์ ถูกนำมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ที่วัสดุได้รับรังสีพลังงานสูง แล้วมีผลให้เกิดการปล่อยรังสีพลังงานต่ำออกมา เทคนิค XRF นี้สามารถวิเคราะห์ธาตุได้ตั้งแต่ธาตุที่มีน้ำหนักเบา เช่น เบริลเลียม (Be) ไปจนถึงธาตุยูเรเนียม (U) ในระดับที่มีมากจนถึงระดับต่ำกว่า ppm (part per million : หนึ่งในล้านส่วน)

          เทคนิคที่มีประโยชน์นี้มาพร้อมกับความเสี่ยง เนื่องจากชิ้นงานอันมีค่าจะต้องถูกเคลื่อนย้ายและขนส่ง ไปยังสถานที่ทำการทดลอง ซึ่งมีสภาพแวดล้อมและความชื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมไปถึงการถูกกระแทกเสียหาย ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้โดยใช้อุปกรณ์สำรับสแกนแบบเคลื่อนที่ ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบภาพได้ ในสถานที่อันเป็นที่เก็บรักษาภาพ เช่น พิพิธภัณฑ์ ได้โดยตรงเลยทีเดียว

          Alfred กล่าวว่า “มันเป็นการบอกกล่าวถึงบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับประวัติของภาพวาด และสิ่งที่อยู่แวดล้อมศิลปินเมื่อเขาทำงานอยู่ในขณะนั้น” ภาพวาดซึ่งมีชื่อว่า พอลีนในชุดสีขาว “Pauline in a white dress” ที่มีต้นไม้เป็นแบกกราวด์อยู่ข้างหลัง เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากที่มีการวิเคราะห์และพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การตรวจพบธาตุโคบอลต์ (Co) บ่งชี้ว่ารงควัตถุ (pigment) สีฟ้า ถูกใช้ในส่วนที่เป็นริบบิ้นคาดผมสีม่วง และรงควัตถุสีส้ม-แดงชาด บ่งชี้โดยการตรวจพบแร่ปรอท (mercury, Hg) การตรวจพบแร่พลวง (antimony, Sb) ที่สัมพันธ์กับรงควัตถุสีเหลือง และตะกั่ว (Pb) ที่สัมพันธ์กับสีขาว ชี้แนะว่าเดิมทีหญิงสาวถูกวาดให้มีผมสีบลอนด์ ที่ขดเป็นลอนยาวเคลียบ่า ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนกับภาพที่มองเห็นเป็นผมสีน้ำตาลเข้มที่เกล้ามวยไว้ข้างหลัง อย่างเรียบร้อย Alfeld ยังกล่าวอีกว่า “สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตรกรไม่ชอบใจและได้วาดใหม่ให้ดูเรียบกว่าเดิม”

          ไม่มีใครทราบว่าศิลปินผู้วาดภาพนี้คือใคร ภาพวาดนี้ถือว่าเป็นของนักวาดภาพโรแมนติกชาวเยอรมัน Philipp Otto Runge และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภรรยาเขาที่ชื่อ Pauline แต่การเป็นเจ้าของยังเป็นที่โต้แย้งของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ การวิเคราะห์ภาพด้วยเอกซเรย์เกิดขึ้น ด้วยการขอร้องจากผู้ครอบครองภาพในปัจจุบัน ซึ่งคาดหวังว่าอาจจะช่วยยืนยันว่าใครเป็นผู้วาดภาพนี้อย่างแท้จริง

พื้นฐานจากบทความ : Hidden dalliance revealed by X-rays ของนิตยสารออนไลน์ ScienceNews ฉบับ 31 March 2011 โดย Rachel Ehrenberg (http://www.sciencenews.org/view/generic/id/72033/title/Hidden_dalliance_revealed_by_X-rays)
และ New Way to Look at Old Paintings: Have X-Rays, Will Travel ของนิตยสารออนไลน์ LiveScience ฉบับ 31 March 2011 โดย Jennifer Welsh (http://www.livescience.com/13499-hidden-painting-features-xrays-110331.html)

ผลการศึกษาทำให้ความลึกลับของ ภาพวาดถูกค้นพบมากยิ่งขึ้น และยืนยัน ว่าครั้งหนึ่งจิตรกรนิรนาม เสียเวลากับ การใช้สีบลอนด์ และเปลี่ยนมาใช้สีอื่น ในที่สุด


ภาพโดย: Matthias Alfeld/ University of Antwerp

   

X-ray scanner แบบเคลื่อนที่ ซึ่งสร้าง โดย Alfred และคณะ ในภาพกำลังสแกน ภาพวาด "Pauline in a white dress”


ภาพโดย: Matthias Alfeld/University of Antwerp

โพสต์เมื่อ : 8 เมษายน 2554