Nuclear Science
STKC 2554

ไอน์สไตน์ค้นพบ E = mc2 จริงหรือ ?

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ใครค้นพบก่อนกันแน่ ?

           ใครคือผู้ค้นพบ E = mc2  ? คำถามนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คุณคิดจะตอบอยู่ก็เป็นได้ เพราะมีการเสนอรายชื่อ ยาวเหยียดของนักวิทยาศาสตร์ตัวจริงผู้ค้นพบสมการมวล-พลังงานที่ปัจจุบันเป็นเครดิตของแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือมีรายชื่อนับจากเจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ (James Clerk Maxwell) เจ้าของทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า (Maxwell’s electromagnetic theory) และ มักซ์ ฟอน เลาเอ (Max von Laue) เจ้าของแบบอย่างการเลี้ยวเบนเลาเอ (Laue diffraction pattern) ไปจนถึงนักฟิสิกส์ตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่ไม่เคยได้ยินชื่ออีกแถวยาว การอ้างพวกนี้ออกมา พาดหัวข่าวเป็นระยะกล่าวหาว่าไอน์สไตน์ว่าเป็นพวกขโมยความคิดหรือคัดลอกวรรณกรรม (plagiarism) แต่ส่วนใหญ่ เชื่อไม่ได้ หรือไม่ค่อยมีคนสนับสนุน แต่เมื่อไม่กี่วันนี้เอง (25 สิงหาคม 2554) มีนักฟิสิกส์สองคนได้แสดงให้เห็นว่า สมการนามอุโฆษของไอน์สไตน์ไม่ได้มีกำเนิดที่ซับซ้อนหรือกำกวมแต่ประการใด และแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” ของไอน์สไตน์
           สตีเฟน โบฮ์น (Stephen Boughn) แห่งวิทยาลัยแฮเวอร์ฟอร์ดในมลรัฐเพนซิลเวเนีย กับโทนี รอทแมน (Tony Rothman) แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ได้ช่วยกันตรวจสอบหนึ่งในต้นเค้าสมการ E = mc2   ที่พอฟังได้ สักหน่อย ซึ่งเป็นของฟริทซ์ ฮาสเซนเนิร์ล (Fritz Hasen?hrl) ศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ที่ได้ตีพิมพ์บทความของเขาเมื่อปี 1904 และเขียนสมการของเขาไว้ชัดเจน คือ E = 3/8mc2 โบห์นและรอทแมน ช่วยกันหาว่าฮาสเซนเนิร์ลได้สมการนี้มาจากไหน และทำไมค่าคงตัวสัดส่วน (3/8) จึงไม่ถูกต้อง ? ไว้ใน บทความต้นร่าง (preprint) ที่เสนอไว้กับอาร์ไคฟ์ (arXiv) ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุ (archive) สำหรับ ต้นร่างอิเล็กทรอนิกส์ (electronic preprint) บทความด้านวิทยาศาสตร์
           ปัจจุบันชื่อของฮาสเซนเนิร์ลโด่งดังพอสมควร จากการปลุกผีของกลุ่มต่อต้านไอน์สไตน์ ชื่อเสียงของเขา ในฐานะผู้ค้นพบ E = mc2 ตัวจริง เป็นผลอย่างยิ่งจากความพยายามของฟีลิปป์ ลีนาร์ด (Philipp Lenard) นักฟิสิกส์ เจ้าของรางวัลโนเบลผู้เป็นนักต่อต้านยิวและชื่นชอบนาซี ที่ได้เพียรพยายามแยกชื่อของไอน์สไตน์ออกจาก ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เพื่อให้เห็นว่าไม่ใช่ผลผลิตของ “วิทยาศาสตร์ยิว”

นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียชั้นนำในยุคของเขา
           ฮาสเซนเนิร์ลเป็นทั้งลูกศิษย์และผู้สืบทอดตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยเวียนนาของลุดวิก โบลต์ซมัน (Ludwig Boltzmann) และคนดังอย่างแอร์วิน ชเรอดิงเงอร์ (Erwin Schr?dinger) ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนที่ชื่นชมเขา รอทแมนพูดถึงเขาว่า ฮาสเซนเนิร์ลอาจนับได้ว่าเป็นนักฟิสิกส์ชาวออสเตรียชั้นนำในยุคของเขา” ฮาสเซนเนิร์ลน่าจะ ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ หากเขาไม่เสียชีวิตจากการร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1
           ความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับมวลเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ในยุคที่ฮาสเซนเนิร์ลกำลังศึกษา เกี่ยวกับสสาร อาทิเช่น อองรี ปวงกาเร (Henri Poincar?) กล่าวว่า รังสีแม่เหล็กไฟฟ้ามีโมเมนตัมอันเป็นสมบัติของ “มวล” และมักซ์ อะบราฮัม (Max Abraham: ผู้ช่วยของมักซ์ พลังค์) ถกถึง E = mc2 ว่า อนุภาคอิเล็กตรอนที่กำลัง เคลื่อนที่ มีปฏิสัมพันธ์กับสนามของอนุภาคเอง (E0) ได้มวลปรากฏ (apparent mass) ตามสมการ E0 = 3/4 mc2ทั้งสองกรณีนี้มีพื้นฐานจากพลศาสตร์ไฟฟ้าแบบคลาสสิก (classical electrodynamics) จากทฤษฎีอีเทอร์ (ether theory) ซึ่งมีสมมติฐานว่ามี “ตัวกลางอีเทอร์” สำหรับให้อนุภาคเคลื่อนที่ไปได้ ทั้งนี้ โบฮ์นกล่าวว่า “ทั้งฮาสเซนเนิร์ล ปวงกาเร อะบราฮัม และอีกหลายคน เสนอว่า จะต้องมีมวลเฉื่อย (inertial mass) ร่วมอยู่กับพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า แม้ว่าพวกเขาจะเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับค่าคงตัวสัดส่วน

อองรี ปวงกาเร มักซ์ อะบราฮัม
(ภาพจากวิกิพีเดีย)
   
ฟริทซ์ ฮาสเซนเนิร์ล

           นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ รอเบิร์ต ครีส (Robert Crease) แห่งมหาวิทยาลัยสโตนีย์บรูก (Stony Brook University) ในนิวยอร์ก เห็นด้วยว่า นักประวัติศาสตร์มักกล่าวว่า แม้ไม่มีไอน์สไตน์ ในไม่ช้า ในแวดวงก็จะเห็นพ้องกับทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษอยู่ดี เพียงแต่เหตุการณ์หลายอย่างผลักดันพวกเขาให้เต้น และร้องแรกแหกกระเชอไปในแนวทางนั้น” ครีสยังกล่าวด้วยว่า บทความของโบฮ์นและรอทแมนแสดงให้เห็นว่า ฮาสเซนเนิร์ลก็เป็นคนหนึ่งที่มุ่งไปในทิศทางนี้
           ฮาสเซนเนิร์ลเข้าหาปัญหาด้วยการตั้งคำถามว่า วัตถุดำ (black body) ที่กำลังปล่อยรังสี มีมวลเปลี่ยนแปลงไป เมื่อกำลังเคลื่อนที่สัมพัทธ์กับผู้สังเกต เขาคำนวณได้ว่า การเคลื่อนที่เพิ่มมวลขึ้นเท่ากับ 3/8c2 คูณกับ พลังงานที่ แผ่ออกมา ซึ่งปีถัดมาเขาแก้เป็น 3/4c2

บทความวิทยาศาสตร์ในลีลาที่แตกต่าง
           อย่างไรก็ดี โบฮ์นและรอทแมนอ้างว่า ไม่มีใครศึกษาที่มาที่ไปสมการของฮาสเซนเนิร์ลอย่างจริงจัง เพื่อจะ ทำความเข้าใจเหตุผลหรือว่าทำไมตัวประกอบข้างหน้า (prefactor) ของฮาสเซนเนิร์ลจึงผิดพลาดไปได้ ทั้งคู่ยอมรับว่า เรื่องนี้ไม่ง่าย “บทความสมัยนั้น ว่าตามมาตรฐานปัจจุบัน ต้องบอกว่า เขียนรุงรังอ่านยาก และมีข้อผิดพลาด อุปสรรค ใหญ่ที่สุดคือเขียนขึ้นจากทรรศนะของโลกที่หมดยุคไปแล้ว ซึ่งมีแต่ทำให้ผู้อ่านสับสนลึกลงในฟิสิกส์สัมพัทธภาพ” แม้แต่เอนรีโก แฟร์มี (Enrico Fermi) เอง ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ตั้งใจอ่านบทความของฮาสเซนเนิร์ลอย่างละเอียด ก่อนที่จะสรุปผิด ๆ ว่า ตัวประกอบข้างหน้า คือ ? มาจากพลังงานของอิเล็กตรอนเองอย่างที่อะบราฮัมพิสูจน์ไว้
           รอทแมนเขียนว่า “สิ่งที่ฮาสเซนเนิร์ลพลาดอย่างแท้จริงในการคำนวณของเขาก็คือ แนวคิดที่ว่า หากตัวเปล่งรังสีในโพรงของเขากำลังปล่อยรังสีออกมา จะต้องมีมวลหายไป ทำให้การคำนวณของเขาคลาดเคลื่อน แต่เขาก็ถูกต้องอยู่ครึ่งหนึ่ง และถ้าเพียงเขาจะเขียนว่า E เป็นสัดส่วนกับ m บางทีประวัติศาสตร์จะกรุแก่เขากว่านี้"ถ้าเป็นอย่างที่ว่ามา บางคนอาจข้องใจว่า แล้ว “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” เข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร ? ที่จริงก็คืออาจจะ "ไม่เกี่ยว” เมื่อตอนที่ไอน์สไตน์ฉลองความสำเร็จบทความปี 1905 “ว่าด้วยพลศาสตร์ไฟฟ้าของวัตถุเคลื่อนที่” ของเขานั้น เท่ากับได้วางรากฐานให้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพด้วยการโละทิ้ง “อีเทอร์” และยังทำให้ความเร็วแสง “ไม่แปรเปลี่ยน” (invariant) จากสมมติฐานการคำนวณสมการ E = mc2 รอทแมนกล่าวว่า ไม่ว่าใครก็พิสูจน์สมการนี้ ได้ถูกต้องด้วยวิธีฟิสิกส์แบบฉบับหรือแบบคลาสสิก (classical physics) ที่ยังมีตัวกลางอีเทอร์ และคำนวณด้วย c ที่อาจจะ “คงที่” หรือไม่ก็ด้วย “ความเร็วที่จำกัด” กรณีของไอน์สไตน์ก็คือ “แม้ตอนต้นเขาจะเริ่มด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่เขาใช้ค่าประมาณทั้งหมดกับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสัมพัทธภาพ แล้วที่เหลือก็จะเป็นการคำนวณพื้นฐานแบบคลาสสิก อย่างหนึ่งเท่านั้น”

ประเด็นโต้แย้ง
           บทความต้นร่างของโบฮ์นและรอทแมนครั้งนี้ดูจะเป็นของร้อนพอควร นักประวัติศาสตร์หลายคนกระอักกระอ่วน ที่จะให้ความเห็น ยกตัวอย่างนักฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัมพัทธภาพชื่อ คลิฟฟอร์ด วิลล์ (Clifford Will) แห่ง มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์ กล่าวถึงบทความนี้ว่า น่าสนใจ ทั้งคู่เป็นนักฟิสิกส์ที่เป็นที่ยอมรับ พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อมั่นในบทวิเคระห์ของตัวเอง”
           กับคำถามที่ว่า ไอน์สไตน์รู้เกี่ยวกับผลงานของฮาสเซนเนิร์ลหรือไม่ ? รอทแมนตอบว่า แม้เขาจะพิสูจน์ไม่ได้ แต่เขามีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่าไอน์สไตน์ต้องรู้ต้องเห็นอย่างแน่นอน และก็ตัดสินใจว่าจะต้องทำให้ผลงานนี้ดีขึ้น ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม ไอน์สไตน์ก็จะอ้างสิทธิ์สมการมวล-พลังงานว่าเขาคิดขึ้นก่อน เมื่อถูกโยฮันส์ ชตาร์ค (Johannes Stark) ท้าทาย (ด้วยการให้เครดิตแก่มักซ์ พลังค์เมื่อปี 1907) ทั้งฮาสเซนเนิร์ลและไอน์สไตน์ต่างก็ไปปรากฏตัว ในการประชุมที่โด่งดังมากคือ การประชุมโซลเวย์ครั้งที่ 1 เมื่อปี 1911 (Solvay conference) เคียงข้างกับนักฟิสิกส์ เรืองนามอื่น ๆ ซึ่งโบฮ์นและรอทแมนกล่าวว่า “คุณน่าจะเดาได้นะว่าพวกเขาคุยกันเรื่องอะไร”
           รอทแมนบอกกับฟิสิกส์เวิร์ลด์ว่า เขาอ่านพบชื่อฮาสเซนเนิร์ลบ่อยมาก แต่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนว่า เขาทำ ผลงานใดไว้ “ครั้งหนึ่งอาจารย์ผู้มีอาวุโสสูงของผมคนหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์ E C G Sudarshan พูดว่าท่านให้เครดิต การค้นพบสมการมวล-พลังงานแก่ฮาสเซนเนิร์ล ดังนั้น เมื่อตอนช่วงคริสต์มาสปีก่อน เมื่อผมพบสตีฟ (สตีเฟน โบฮ์น) จึงได้พูดกับเขาว่า ทำไมเราไม่หาเวลาสักวันหนึ่ง มานั่งคุยกันหลังมื้อเที่ยงสักสองชั่วโมง เพื่อช่วยกันดูบทความของ ฮาสเซนเนิร์ลว่าเขาทำผิดพลาดอะไร’ แต่แล้วสองชั่วโมงกลับกลายเป็น 8 เดือน เพราะกลับพบว่าโจทย์ข้อนี้ยากสุด ๆ"

จากเรื่อง : Did Einstein discover E = mc2? (http://physicsworld.com/cws/article/news/46941#comments)
เขียนโดย :Philip Ball นักเขียนบทความวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ)

โพสต์เมื่อ : 1 กันยายน 2554