Nuclear Science
STKC 2554

บางอย่างที่รัทเทอร์ฟอร์ดอาจทิ้งไว้ให้

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          เรื่องของ เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) เรื่องนี้เป็นข่าวคราวต่อเนื่องมาหลายปีหลัง ๆ นี้ แต่เห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่จะหยิบขึ้นมาเล่าสู่กันก่อนที่จะหมดปีนี้ อันเป็นปีที่ครบ 100 ปีที่รัทเทอร์ฟอร์ดค้นพบ นิวเคลียสของอะตอม เรื่องมีว่า...
          สิ่งที่รัทเทอร์ฟอร์ดกับลูกมือ เหลือทิ้งเอาไว้จากการทำการทดลอง จะมีส่วนต่อการตายของนักวิชาการของ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ อย่างน้อย 2 ท่าน (ก่อนหน้านี้เป็นข่าวอยู่ 4 ราย) ในอีกเกือบ 100 ปีต่อมาหรือไม่ ?
นี่คือคำถามที่ ไนเจล เมโดวส์ (Nigel Meadows) เจ้าหน้าที่วินิจฉัยการตายโดยผิดปกติ (coroner) ของเมืองแมนเชสเตอร์ กำลังเผชิญอยู่ เขาจะต้องสืบเสาะให้ได้ว่าการตายของ อาเทอร์ รีดเดอร์ (Arthur Reader) และ ทอม วิสตัน (Tom Whiston) ซึ่งทั้งคู่ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งตับอ่อนเมื่อปี 2008 และ 2009 ตามลำดับ

ไนเจล เมโดวส์ (ภาพ : Manchester Evening News)

          รัทเทอร์ฟอร์ดเริ่มงานที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ตั้งแต่ปี 1907 และทำงานอยู่นาน 12 ปี โดยทำการทดลองกับ วัสดุกัมมันตรังสี ตลอดจนสารมีพิษหลายชนิด เช่น ปรอท และที่นี่คือที่ซึ่งเขาค้นพบว่านิวเคลียสของอะตอม
ห้องปฏิบัติการของรัทเทอร์ฟอร์ดขณะนั้นเรียกว่า “ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ใหม่” ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ก่อนจะได้ชื่อว่า “อาคารรัทเทอร์ฟอร์ด” เมื่อปี 2006 อาคารนี้ภาควิชาฟิสิกส์ใช้กันมาต่อเนื่องจนถึงปลายทศวรรษ 1960 จากนั้นภาควิชาจิตวิทยาก็ย้ายเข้ามาเมื่อปี 1972 — แต่กว่าจะมีใครพบเห็นสิ่งผิดปกติก็ต้องถึงปี 2001 ทำให้ต้องปิดตายหลาย ๆ ห้องเอาไว้ เพราะพบว่ามีรังสีและการเปรอะเปื้อนสารปรอท
          ถึงปี 2008 นักจิตวิทยา 3 ท่านผู้ใช้อาคารนี้มานาน ได้ตีพิมพ์รายงานความยาว 294 หน้าในชื่อว่า “ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ต่อสุขภาพ อันเนื่องมาจากรังสีชนิดก่อไอออนภายในอาคารรัทเทอร์ฟอร์ด” (Possible health risks due to ionising radiation in the Rutherford Building)
          ในรายงานดังกล่าว จอห์น เชอเชอร์ (John Churcher) ดอน โอบอล์ย (Don O’Boyle) และ นีล ทอดด์ (Neil Todd) สรุปไว้ดังนี้
          “ยังไม่ชัดเจนเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการเปื้อนสารกัมมันตรังสีของอาคารคูปแลนด์ 1 / รัทเทอร์ฟอร์ด ว่ามีผลเพียงใดต่อสุขภาพของเจ้าหน้าที่ในภาควิชาจิตวิทยา ที่ได้ทำงานในบางส่วนของอาคารในช่วง 25 ปีจนถึงปี 1999 ตลอดจนต่อสุขภาพของบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ทำงานในอาคารมาก่อนหน้านี้”
          อย่างไรก็ดี ในปี 2009 นักระบาดวิทยาชื่อ เดวิด ค็อกกอน (David Coggon) แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมตัน ได้แจกแจงไว้ในรายงานต่างหาก ซึ่งสรุปว่าสาเหตุการตาย (รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพ ของบุคลากรอื่น ๆ ด้วย) อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับการปนเปื้อนก็เป็นได้ “มะเร็งตับอ่อนไม่ใช่โรคที่เป็นผลจากการได้รับรังสี ถ้าคุณได้รับรังสีจากเรดอนคุณก็น่าจะเป็นมะเร็งปอด และการได้รับสารปรอทคุณก็น่าจะเป็นโรคไต”
            ไม่ทราบว่าผลสอบของไนเจล เมโดวส์จะออกมาอย่างไร เพราะตั้งแต่เขารับงานจนมาถึงวันนี้ ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว

โพสต์เมื่อ : 15 กันยายน 2554