Nuclear Science
STKC 2555

สว่างไสวไปกับสาวเรเดียม : (Radium Girls)

ดร. สุวิมล  เจตะวัฒนะ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            ค.ศ. 2011 นับเวลาได้ครบ 113 ปีเต็ม ที่โลกได้รู้จักธาตุเรเดียม (Radium) สารกัมมันตรังสีที่นำมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทั่วโลก และยังเป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 100 ปี ที่มาดามคูรี ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมี การค้นพบที่นำมาซึ่งชื่อเสียง ความสำเร็จ รายได้ ไปจนถึงมอบชีวิตใหม่ ให้ใครบางคนนี้ ยังมีเรื่องราวบางอย่างของเรเดียม ที่นำมาซึ่งความเจ็บปวด และจบลงด้วยความสูญเสียและความเศร้า ของหลายคนที่เกี่ยวข้อง แม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้ประโยชน์จากเรเดียม น้อยลงไป แต่เหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานแสนนานแล้วก็ตาม ตัวดำเนินเรื่องเหล่านี้เป็นหญิงสาวกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่า สาวเรเดียม

รู้จักเรเดียม
            สมาชิกในตารางธาตุที่มีเลขเชิงอะตอม (atomic number) 88 นี้ ถูกค้นพบในเดือนธันวาคม 1898 โดย ปิแอร์ และมารี คูรี (Pierre & Marie Curie) เดิมทีเรเดียมมีชื่อเรียกในภาษาละตินว่า radius ที่แปลว่ารังสี และใช้ Ra เป็นสัญญลักษณ์ จัดเป็นธาตุลูกที่เกิดจากการสลายของยูเรเนียม (Uranium, U) ในธรรมชาติจะพบเป็นจำนวนเล็กน้อย ปะปนอยู่กับสินแร่พิตช์เบลนด์ (pitchblende) ที่มียูเรเนียมเป็นองค์ประกอบหลัก เรเดียมเป็นธาตุหายาก ที่แสดงสมบัติเป็นโลหะสีขาวในหมู่อัลคาไลน์ แต่จะถูกออกซิไดส์กลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับอากาศ ไอโซโทปของเรเดียมทุกตัวเป็นสารกัมมันตรังสี ซึ่งตัวที่ค่อนข้างเสถียรที่สุดได้แก่ Ra-226 ก็ยังมีครึ่งชีวิตยาวนานถึง 1,600 ปี การสลายให้อนุภาคแอลฟาของเรเดียมจะทำให้มันกลายเป็นแก๊สเรดอน (Rn-222) ส่วนการสลายให้อนุภาคโพซิตรอน (b+) ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก จะทำให้มันกลายเป็นธาตุแฟรนเซียม (Francium, Fr) และด้วยสมบัติที่ไม่เสถียร ทำให้เรเดียมมีความสามารถในการเรืองแสง มองเห็นเป็นสีฟ้าอ่อนจาง

            ในปี 1909 การทดลองอันมีชื่อเสียงของรัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) ได้ใช้เรเดียมเป็นต้นกำเนิด อนุภาคแอลฟา เพื่อค้นหาโครงสร้างของทองคำ การทดลองนี้นำไปสู่การนำเสนอรัทเทอร์ฟอร์ดโมเดล (Rutherford model) ที่ใช้ในการศึกษาโครงสร้างของอะตอมอื่น ๆ อันเป็นการปฏิวัติทางความรู้ครั้งใหญ่ในวงการฟิสิกส์นิวเคลียร์ (nuclear physics)

            เมื่อก่อนนี้ เรเดียมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ ในช่วงปี 1920 – 1930 ที่ประเทศแคนาดา ได้ใช้เรเดียมเป็นแหล่งกำเนิดแก๊สเรดอนที่นำมาใช้รักษามะเร็ง ในสหรัฐเองเคยมีการให้เรเดียมทางจมูกแก่เด็ก ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1970 เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดกับหูส่วนกลาง และเมื่อไม่นานมานี้ การใช้งานเรเดียม-223 ได้ถูกนำมาศึกษาอีกครั้ง เพื่อใช้สำหรับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจายไปยังกระดูก

            ในวงการอุตสาหกรรม ครั้งหนึ่งเรเดียมถูกนำมาใช้ทาเป็นสารเรืองแสงเพื่อให้มองเห็นสิ่งของในที่มืด เช่น หน้าปัดนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาปลุก หน้าปัดอุปกรณ์วัดความสูงที่ใช้บนเครื่องบิน และหน้าปัดของเครื่องมือตรวจวัด ชนิดต่าง ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง เรเดียมถูกใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟัน ครีมใส่ผม หรือแม้กระทั่งอาหารและน้ำดื่ม โดยเชื่อว่าจะช่วยในการบำบัดโรคได้ แต่สิ่งเหล่านี้ได้เสื่อมไปจากสมัยนิยมในทันที และถูกห้ามนำมาใช้ในหลายประเทศ หลังจากที่พบว่าอาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย แต่ก็ยังพบการโฆษณาชักชวนในบางประเทศ ให้ไปใช้บริการสปา ที่แหล่งน้ำหรือน้ำพุร้อนมีส่วนผสมของแร่เรเดียมอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดาและหลายประเทศในยุโรป

โศกนาฎกรรมบนความไม่รู้
            ประมาณปี 1917 หญิงสาวกลุ่มหนึ่งถูกจ้างเป็นคนงานด้วยค่าแรงที่สูงกว่าโรงงานอื่น ๆ ให้ทำงานในโรงงาน United States (US) Radium factory ณ เมือง Orange มลรัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ระบายสี ที่มีเรเดียมเป็นส่วนผสมลงบนหน้าปัดนาฬิกา มันเป็นเรื่องแปลกเล็ก ๆ สำหรับสาวโรงงานเรเดียม ที่สังเกตว่า เมื่อเธอสั่งน้ำมูก ผ้าเช็ดหน้าที่ใช้ปิดจมูกจะเรืองแสงได้ในที่มืด แต่ทุกคนรู้ว่าสิ่งนี้ไม่มีอันตรายใด ๆ พวกเธอเหล่านั้น บางครั้งยังพากันทาเล็บและฟันเพื่อให้แฟนของเธอแปลกใจ ที่มันสามารถเรืองแสงได้เมื่อยามดวงอาทิตย์ลับแสงไปแล้ว หญิงสาวเหล่านั้นได้รับการบอกกล่าวว่า สีที่ใช้ระบายไม่มีอันตรายใด ๆ จึงมีการใช้ริมฝีปากลูบปลายพู่กัน เพื่อให้มีปลายเรียวและง่ายต่อการทำงานต่อไป โดยหารู้ไม่ว่าปริมาณของเรเดียมที่ได้รับเข้าไป สามารถคร่าชีวิตของตนได้

            ดังเช่น เกรซ ฟรายเยอร์ (Grace Fryer) และหญิงสาวอื่น ๆ อีกหลายคน ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็น สาวโรงงาน ต่อมาในปี 1920 เกรซซึ่งเปลี่ยนมาทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ได้เกิดความกังวลว่าเหตุใดฟันของเธอ จึงเริ่มหลุดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัญหานี้ลุกลามเมื่อกรามของเธอเริ่มอักเสบและบวมใหญ่ขึ้น นัยน์ตาของเธอเริ่มขุ่นมัว หลังจากไปพบแพทย์หลายต่อหลายรายเพื่อวินิจฉัยอาการซึ่งไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ แพทย์ได้ทำการเอกซเรย์ และพบกระดูกผุอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน กระดูกกรามของเธอมีลักษณะเหมือนรังผึ้งที่มีรูเต็มไปหมด แต่เป็นไปในลักษณะที่เหมือนผ้าซึ่งโดนแมลงกัดแทะเป็นรู ในขณะที่แพทย์พยายามไขปัญหาอาการเจ็บป่วย ของเกรซอยู่นั้น ก็ได้มีผู้ป่วยลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นหลายรายในละแวกเดียวกัน ทันตแพทย์รายหนึ่งได้สังเกตว่า การผุกร่อนของกระดูกกรามที่พบในผู้หญิงจำนวนมากมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เธอเหล่านั้นล้วนเคยทำงาน ในโรงงานระบายสีหน้าปัดนาฬิกามาก่อนทั้งสิ้น

            เรื่องมันมีอยู่ว่า…….ในปี 1902 ยี่สิบปีก่อนที่เกรซจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย นักประดิษฐ์นามวิลเลียม เจ แฮมเมอร์ (William J. Hammer) ได้กลับจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับสิ่งของที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง เป็นตัวอย่างผลึกเกลือ ของเรเดียมที่ได้มาจากปีแอร์ และมารี คูรี นักวิทยาศาสตร์สองสามีภรรยาผู้มีชื่อเสียง แฮมเมอร์ไม่ได้ตระหนัก ถึงความเป็นอันตรายของสารกัมมันตรังสี เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสียังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และยังเป็นของใหม่อยู่มากในวงการวิทยาศาสตร์สมัยนั้น แต่คุณลักษณะเรืองแสงเป็นสีฟ้าอมเขียวได้ และมีความอุ่นในตัวทำให้เรเดียมมีเสน่ห๋ชวนให้หลงใหลยิ่งนัก เขาไม่รอช้าที่จะนำเรเดียมที่ได้มาผสมกับกาว และสารประกอบสังกะสีซัลไฟด์ (zinc sulfide, ZnS) ซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อได้รับรังสี ผลที่ได้คือ สีที่ให้ความสว่างในที่มืด (glow-in-the-dark paint) สูตรที่แฮมเมอร์ใช้นี้ ถูกนำมาใช้โดย US Radium Corporation ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914 – 1918) เพื่อผลิตเป็นสีที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ให้ความสว่าง และช่วยให้เหล่าทหารราบของอเมริกาสามารถมองเห็นหน้าปัดของนาฬิกาข้อมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทางการทหารในที่มืดได้ และยังมีการจำหน่ายสีนี้เพื่อนำไปใช้กับสินค้าอื่นอีกหลายชนิด เช่น สีทาเลขบ้าน สีทาที่เล็งศูนย์ปืนพก (pistol sight) สวิทช์ไฟ รวมไปถึงใช้ทาสีลูกนัยน์ตาของตุ๊กตาให้เรืองแสง


http://en.wikipedia.org/wiki/Radium_Girls

            ในช่วงเวลาต่อมา อันตรายของเรเดียมเป็นที่เข้าใจกันดีมากขึ้น แต่ทาง US Radium Corporation ยืนยันกับประชาชนว่าสีของทางบริษัทมีสารกัมมันตภาพรังสีผสมอยู่ในปริมาณเพียงน้อยนิดและไม่มีอันตรายใด ๆ ซึ่งก็เป็นความจริงที่บนผลิตภัณฑ์มีสารกัมมันตรังสีไม่มาก แต่ปริมาณของเรเดียมที่มีใน โรงงานระบายสีหน้าปัดนาฬิกานั้น มีมากในระดับที่เป็นอันตราย แต่ทว่า……ไม่มีคนงานคนใดล่วงรู้ ทาง US Radium ได้จ้างคนงานหญิงจำนวนหลายร้อยคนเข้าทำงาน หนึ่งในนั้นมีเกรซ ฟรายเยอร์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งมีโรงงานเพียงไม่กี่แห่ง ที่เต็มใจว่าจ้างคนงานด้วยค่าแรงที่สูงกว่าที่อื่น จึงไม่เป็นการลำบากในการหาคนมาทำงานในโรงงาน ที่เต็มไปด้วยโต๊ะตั้งเรียงแถวเป็นจำนวนมาก งานที่ทำก็แสนง่าย เพียงแค่ใช้พู่กันขนอูฐปลายเรียวบาง แต้มระบายสีลงบนตัวเลขเล็ก ๆ ของนาฬิกาข้อมือ เมื่อแต้มสีไปได้สอง-สามครั้ง ปลายพู่กันจะเริ่มบานออก ทางผู้จัดการโรงงานให้หญิงสาวเหล่านั้นใช้ริมฝีปากและลิ้นลูบปลายพู่กัน เพื่อให้มันกลับมาเรียวแหลมอีกครั้ง สีที่ใช้ไม่มีรสชาติแม้แต่น้อย และผู้ควบคุมงานยังให้ความเชื่อมั่นว่าแก้มแดง ๆ ของเหล่าคนงานเป็นเพียงผลข้างเคียง ที่มาจากการกลืนเรเดียมที่เจืออยู่ในสีเข้าไปเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลยิ่งถูกทำให้น้อยลงไปอีก เมื่อในท้องตลาด ได้มีผู้ผลิตน้ำดื่มผสมเรเดียมออกมาจำหน่ายเป็นยาอายุวัฒนะ แก้สารพัดโรค !!

คดีฟ้องร้องอันเป็นประวัติศาสตร์
            ในช่วงกลางทศวรรษ 1920 ได้มีคดีความฟ้องร้องกันขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ฝ่ายโจทก์ได้แก่ หญิงสาวที่เคยทำงาน โรงงานเรเดียม 5 คนที่กำลังจะตาย โดยตั้งข้อกล่าวหาต่ออดีตนายจ้างว่า ทำการปิดบังข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ทำให้การทำงานเป็นคนระบายสีลงบนหน้าปัดนาฬิกาได้รับเรเดียมเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรง ต่อสุขภาพ ซึ่งรวมไปถึงอาการเจ็บคอ โลหิตจาง และมะเร็งในกระดูก ซึ่งภายหลังมีการค้นพบว่า เรเดียมสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เหมือนแคลเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่อยู่ในหมู่เดียวกันและไปสะสมที่ฟันและกระดูก ทำให้กัมมันตภาพรังสีที่สลายออกมาไปทำลายเซลล์ไขกระดูก แล้วทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง

            ทาง US Radium เป็นจำเลยฝ่ายผู้ประกอบการที่มีกระเป๋าหนักและมีอิทธิพล ดังนั้นเกรซซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ ต้องใช้เวลาอีกถึงสองปีในการหาทนายที่เต็มใจช่วยเธอต่อสู้คดีกับนายจ้างเก่ารายนี้ อัศวินขี่ม้าขาวที่กล้าเสนอตัว เข้ามาทำคดีเป็นทนายหนุ่มจากเมืองนวร์ก หรือ นูอาร์ก (Newark) มลรัฐนิวเจอร์ซี นามว่า เรมอนด์ แบรี (Raymond Berry) ซึ่งได้ยื่นฟ้องร้องในปี 1927 และมีหญิงสาวอีก 4 คนร่วมเป็นโจทก์ด้วย โดยเรียกร้องค่าเสียหายรายละ 250,000 เหรียญสหรัฐ พวกเธอทั้งห้าจึงเป็นที่รู้จักผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ไปทั่วประเทศอเมริกาและยุโรปในนาม “สาวเรเดียม”

            อุปสรรคแรกที่ต้องประสบคือ ข้อจำกัดของกฎหมายแห่งมลรัฐนิวเจอร์ซีที่ระบุเอาไว้ว่า ให้ทำการฟ้องร้องได้ ภายในเวลาไม่เกินสองปีหลังเกิดเรื่อง ทางทนายแบรีจึงแย้งว่า การฟ้องร้องควรเริ่มนับตั้งแต่สาวเรเดียมรู้ว่า อะไรเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ มิใช่วันที่พวกเธอลาออกจากโรงงาน US Radium เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับ อันตรายจากเรเดียม ถูกบริษัทปิดบังเอาไว้

            ระหว่างการฟ้องร้องกันนั้น มีการสืบสวนพบว่านักเคมีและผู้จัดการของโรงงาน ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ในการป้องกันตนเองจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของรังสี พวกเขารู้กระทั่งว่า สารที่ทำให้เกิดการเรืองแสงนั้น มีความแรงกว่ายูเรเนียมหลายล้านเท่า การจับต้องและการเตรียมจึงทำด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ด้วยการใช้คีมคีบ มีเครื่องปิดหน้าและฉากตะกั่วเป็นเครื่องกำบัง  แต่ไม่เคยมีการเตือนให้ลูกจ้างในโรงงานได้รับทราบถึงอันตรายนี้ ทาง US Radium เองยังเคยส่งบทความถึงวงการแพทย์ บรรยายถึงผลอันตรายจากเรเดียม (injurious effects of radium) แต่ภายในโรงงานเองที่มีฝุ่นของสารเรืองแสงจับอยู่แทบทุกตารางนิ้วบนโต๊ะ กลับไม่เคยมีใครรู้เรื่องอันตรายเหล่านี้เลย ปีแล้วปีเล่าที่ทางโรงงานพยายามปิดบังความจริงข้อนี้ไว้ ไม่ให้คนงานรู้ และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ต่อความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่าพวกเธอป่วยเป็นโรคซิฟิลิส (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อที่มีลักษณะคล้ายแบคทีเรีย แต่มีรูปร่างเป็นเกลียว) อันเป็นความเพิกเฉย ไม่เอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพ ของพนักงานเป็นอย่างยิ่ง การฟ้องร้องมีผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง อันนำไปสู่การปฏิรูปกฏหมายแรงงาน ว่าด้วยโรคที่เกิดจากการทำงานในเวลาต่อมา

            เกรซ อาจจะเป็นเหยื่อนิรนามของโรคประหลาดที่เกิดจากการทำงาน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก Consumers League อันเป็นสมาคมหรือสหพันธ์สำหรับผู้บริโภค และ วอลเตอร์ ลิปป์แมน (Walter Lippmann) ซึ่งเป็นนักต่อสู้ค้นหาความจริงและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ New York World ที่เรืองอำนาจอยู่ในเวลานั้น ด้วยการขอร้องของเจ้าหน้าที่จากหน่วยสุขภาพประจำเมือง Orange ให้ทาง Consumers League เข้ามาช่วยสืบสวนหาความจริงเกี่ยวกับการตายอย่างน่าสงสัยของสาวเรเดียม 4 คนในระหว่างปี 1922 – 1924 ซึ่งถูกระบุว่าเกิดจากพิษของฟอสฟอรัสบ้าง เป็นซิฟิลิสบ้าง แต่คนงานในโรงงานกลับคิดว่า ส่วนผสมของสี ที่ใช้ทาบนหน้าปัดนาฬิกาน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย Consumers League เป็นองค์กรที่ทำงาน ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก การดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในสถานปฏิบัติงาน รวมไปถึงการให้ค่าแรง ที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ประธานของ Consumers League ได้นำผู้เชี่ยวชาญทางสถิติเข้ามาช่วยและได้ติดต่อกับ แอลิส แฮมิลตัน (Alice Hamilton) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นกรรมการระดับประเทศของ Consumers League อีกทางหนึ่งด้วย

หน้ากากผู้ประกอบการ
            ในปี 1925 สามปีหลังจากที่เกรซเริ่มมีปัญหาสุขภาพ แพทย์ได้แนะนำว่าปัญหาเรื่องกระดูกกรามของเธอ น่าจะเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากงานที่เธอทำก่อนหน้านี้ที่โรงงาน US Radium เมื่อเธอเริ่มค้นหาความเป็นไปได้ในข้อนี้ เฟรเดอริก ฟลินน์ (Frederick Flynn) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ได้ขอตรวจร่างกายเธออีกครั้ง ฟลินน์แถลงว่า เกรซมีสุขภาพดีเหมือนตัวเขาเอง แต่มีผู้ทราบในภายหลังว่า ฟลินน์ไม่ได้เป็นแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพแต่อย่างใด แต่เขาเป็นเพียงนักพิษวิทยา (toxicologist) ที่ทาง US Radium จ้างมา และผู้ร่วมงานที่อยู่ด้วยในระหว่างที่มีการตรวจร่างกาย และเป็นผู้ยืนยันผลการตรวจนั้น ก็เป็นถึงรองประธานของบริษัท เมื่อคนงานระบายสีจำนวนมากเริ่มมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับกระดูก โดยเฉพาะกระดูกกราม ทางบริษัทก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อปิดบังสาเหตุของการเกิดโรคนั้น การตายของคนงานมักจะถูกบิดเบือนว่า เกิดจากโรคซิฟิลิส อันเป็นการทำลายชื่อเสียงของคนงานหญิงเหล่านั้นด้วย โดยมีแพทย์และทันตแพทย์จำนวนมาก ให้ความร่วมมือ พร้อมด้วยการรณรงค์บิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยความมีอิทธิพลของบริษัท

            ในช่วงแรก ๆ ทาง US Radium ได้ว่าจ้างเซซิล ดริงเคอร์ (Cecil Drinker) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ทางด้านสรีรวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดให้มาศึกษาสภาพการทำงานในโรงงาน ซึ่งผลของรายงานที่ได้ออกมา คือ อยู่ในขั้นวิกฤต มีการระบุถึงการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีอย่างหนักในโรงงาน และผลการตรวจเลือด ที่แสดงภาวะไม่ปกติในแรงงานทุกคน Drinker ยังเคยถูกหัวเราะเยาะโดยนักเคมีของโรงงาน เมื่อเขากล่าวเตือน ถึงอันตรายของการจับต้องสารกัมมันตรังสีโดยไม่มีเครื่องป้องกัน โดยสังเกตจากรอยแผลเหวะหวะบนมือ ของนักเคมีผู้นั้นซึ่งได้เสียชีวิตในเวลาอีกหนึ่งปีต่อมา แต่รายงานที่ทางบริษัทส่งให้กรมแรงงานของนิวเจอร์ซีที่ระบุว่า Drinker เป็นผู้เขียนนั้น ในส่วนที่กล่าวถึงสภาวะที่ไม่ดีต่อสุขภาพ กลับถูกแทนที่ด้วยคำกล่าวชมเชยที่คนงานทุกคน มีสุขภาพสมบูรณ์ดี และที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้น อาเธอร์ โรเดอร์ (Arther Roeder) ประธานของบริษัทยังเพิกเฉยต่อคำแนะนำ ของ Drinker ในรายงานต้นฉบับ ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายให้กับคนงานเลย และยังพยายามทำตัวให้พ้นจากข้อกล่าวหา โดยบอกใครต่อใครว่า ตัวเขาเองมีความปลอดภัยเป็นที่สุดตามรายงานของ Drinker พร้อมกับพยายามถ่วงเวลาไม่ให้ Drinker ส่งรายงานต้นฉบับไปตีพิมพ์อีกด้วย โดยอ้างว่า Drinker ให้สัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับ เท่านั้นยังไม่พอ Roeder ยังกล่าวหา Consumer League อีกด้วยว่า ทำให้เขาเสื่อมศรัทธาที่พยายามจะนำเอาข้อมูลอันเป็นความลับของบริษัทไปเปิดเผย

            รายงานฉบับปลอมแปลงนี้ถูกค้นพบในปี 1925 โดยแอลิส แฮมิลตัน (Alice Hamilton) เพื่อนร่วมงานของ Drinker ซึ่งได้เขียนจดหมายถึงเขาและทำให้ Drinker ตัดสินใจตีพิมพ์รายงานต้นฉบับของเขา ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ให้ปรากฏต่อสาธารณชนในทันที และไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งนี้จะทำให้ผู้บริหารของทาง US Radium โกรธแค้นมากและเริ่มคุกคามทางกฏหมาย ถึงอย่างไรก็ตาม Drinker ก็ได้ตีพิมพ์รายงานของเขาไปแล้ว โดยส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า “….ตัวอย่างของฝุ่นที่เก็บมาจากห้องทำงานในส่วนต่าง ๆ ของโรงงาน และเก้าอี้ที่ไม่ได้ใช้โดยเหล่าคนงาน ล้วนเรืองแสงได้ในห้องมืด เส้นผม ใบหน้า มือ แขน ลำคอ ชุดทำงาน และแม้กระทั่งชุดชั้นในของสาวโรงงานที่ระบายสีหน้าปัดนาฬิกาก็ยังเรืองแสงด้วย นอกจากนี้ยังพบคนงานหญิงคนหนึ่ง มีจุดเรืองแสงที่ขาและต้นขาด้วย ส่วนหลังของคนงานบางคนเรืองแสงไปจนถึงเอว…..”

ค่าชดเชยที่ต้องแลกด้วยชีวิต
            แม้หญิงสาวเหล่านี้จะเป็นฝ่ายชนะคดี และได้รับการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วน แต่เงินเหล่านั้น ก็ไม่สามารถชดเชยคุณภาพชีวิตที่ต้องเสียไปอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยและการทำงานไม่ได้

            ระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายกำลังดำเนินอยู่นั้นโจเซฟ เนฟ (Joseph P. Knef) ทันตแพทย์แห่งเมืองนิวยอร์ก ได้ทำการตรวจสอบกระดูกกรามของอะมีเลีย แมกเกีย (Amelia Maggia) สาวเรเดียมรายหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยการขุดศพขึ้นมาอีกครั้ง ในช่วงสองถึงสามเดือนสุดท้ายก่อนตาย กระดูกกรามของเธอผุมาก ทำให้แพทย์ไม่มีทางเลือกในการรักษา นอกจากผ่าเอาออกไป สาเหตุการตายอย่างเป็นทางการถูกระบุว่าเป็นซิฟิลิส แต่ Knef เองสงสัยว่าไม่น่าจะใช่ เขานำกระดูกกรามมาห่อไว้กับฟิล์มสำหรับเอกซเรย์ฟันเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ เมื่อล้างฟิล์มออกมาดู ก็พบว่ารูปแบบที่ปรากฏบนฟิล์มนั้นแสดงถึงการได้รับรังสี!!

            การดำเนินของคดีเป็นไปอย่างล่าช้าตามระบบของศาลสถิตยุติธรรม สาวเรเดียมที่เป็นโจทก์ มีสุขภาพเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว  ในการปรากฏตัวในศาลครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 1928 สาวเรเดียมสองคน ต้องถูกหามมาในเปล และไม่มีแรงแม้กระทั่งจะยกมือกล่าวคำสาบานว่าจะพูดความจริงต่อหน้าศาล เกรซเองก็ไม่สามารถเดินได้แล้วและต้องอาศัยเครื่องช่วยพยุงหลังเพื่อลุกขึ้นนั่ง ฟันของเธอได้หลุดร่วงไปหมดทั้งปาก เรื่องราวของสาวเรเดียมได้เป็นหัวข้อข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ทั่วทั้งประเทศ และการนำเสนอข่าวก็เต็มไปด้วย ความสะเทือนใจ จนกระทั่งคำบรรยายเกี่ยวกับสภาพที่สิ้นหวังของเธอเหล่านั้นได้ไปถึงหูของมาดามคูรี ที่อยู่ในปารีส มาดามคูรีกล่าวว่า….เธอจะรู้สึกเป็นสุขอย่างมากหากมีทางใดที่เธอจะช่วยได้…. แต่ก็ได้กล่าวต่อว่า…. ไม่มีทางใดที่จะสามารถทำลายสารกัมมันตรังสีนี้ได้ หากมันได้เข้าสู่ร่างกายไปแล้ว

            ล่วงเข้าสู่เดือนเมษายน สาวเรเดียมทั้งหมดป่วยมากจนไม่สามารถมาตามนัดของศาลได้ แม้ทนายของฝ่ายโจทก์จะใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก ศาลก็ยังคงยืนกรานเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปชั่วคราว จนกว่าจะถึงเดือนกันยายน โดยอ้างว่า เนื่องจากพยานของทางฝ่าย US Radium หลายคนกำลังพักผ่อนช่วงฤดูร้อน อยู่ในยุโรป ทำให้ไม่สามารถมาให้การได้ สิ่งนี้ทำให้วอลเตอร์ ลิปป์แมน บรรณาธิการของ New York World ได้เขียนถึงการตัดสินใจของศาลว่า “….เป็นเรื่องที่น่ารำคาญของระบบศาลอย่างยิ่ง ไม่มีเหตุสมควรอันใดเลย ที่ต้องทำให้คดีล่าช้าเช่นนี้ หญิงสาวเหล่านี้กำลังจะตาย นี่ไม่ใช่คดีที่จะมารอการตัดสินใจ แต่เป็นคดีที่ผู้หญิงห้าคนกำลังต่อสู้เพื่อเงินที่หามาด้วยความยากลำบาก เพื่อนำมาเยียวยาในวันสุดท้ายบนโลกนี้…..” ในตอนท้ายเขาได้เขียนเพิ่มเติมว่า “….นี่เป็นแผนการที่ไร้หัวใจ เหมือนไม่ใช่คน ไม่ยุติธรรม และโหดร้ายที่สุด คดีนี้เป็นคดีซึ่งไม่ต้องการความล่าช้า แต่เป็นคดีที่ต้องการความตรงไปตรงมา รวดเร็ว และยุติธรรม…..”

            การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์และความโกรธของผู้คนทั่วประเทศที่มีต่อความล่าช้า ทำให้ศาลต้องนัดฟังคดีใหม่ในต้นเดือนมิถุนายน แต่ก่อนถึงวันนัดสืบพยานเพียงวันเดียว แบรีซึ่งเป็นทนายฝ่ายโจทก์ และทาง US Radium ได้เห็นพ้องกันให้ผู้พิพากษา วิลเลียม คลาร์ก (William Clark) เป็นผู้จัดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แบรีและสาวเรเดียมยอมรับข้อเสนอของฝ่าย US Radium อย่างไม่เต็มใจนัก แม้จะรู้ว่าผู้ที่มาทำการไกล่เกลี่ย เป็นผู้ถือหุ้นของ US Radium ด้วยก็ตาม สถานการณ์ของพวกเขาสิ้นหวังเกินกว่าจะปฏิเสธ เนื่องจากสาวเรเดียมคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นานนัก สาวเรเดียมที่ยื่นฟ้องแต่ละคน ได้รับค่าชดเชยเพียงรายละ 10,000 ดอลลาร์อเมริกันเท่านั้น และได้รับค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้ว และยังจะได้รับเงินชดเชยอีกปีละ 600 ดอลลาร์อเมริกันนานเท่าที่พวกเธอยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่พวกเธอได้รับเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

ฉากสุดท้ายก่อนปิดม่าน
            ผลจากการฟ้องร้องในครั้งนี้ ทำให้ผู้คนรู้จักผลกระทบหรืออันตรายจากรังสีกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น สาวเรเดียมที่ทำหน้าที่แต้มสีหน้าปัดนาฬิกาได้รับคำแนะนำถึงวิธีปฏิบัติอย่างปลอดภัยในการทำงาน และมีอุปกรณ์สำหรับป้องกันการได้รับรังสี โดยเฉพาะการไม่ใช้ริมฝีปากลูบพู่กันเพื่อทำให้เป็นปลายแหลม การใช้งานเรเดียมเพื่อแต้มหน้าปัดยังคงมีต่อมาอีกหลายปีจนถึงช่วง 1960 โดยไม่มีรายงานว่ามีอันตรายใด ๆ ต่อคนงาน สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์อันเลวร้ายของสาวเรเดียมไม่ได้เกิดขึ้นอีก แม้จะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจำนวนมากน้อยเท่าใดจากการใช้สีที่มีส่วนผสมของสารกัมมันตรังสีนี้ แต่ทาง US Radium ก็ได้มีการว่าจ้างคนงานให้ระบายสีหน้าปัดอุปกรณ์เป็นจำนวนประมาณ 4,000 คน อย่างไรก็ดี US Radium ไม่ได้เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ประกอบการเกี่ยวกับสีผสมเรเดียม หากยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นบริษัทที่ชั่วร้ายที่สุด (ในแง่การปฏิบัติต่อคนงาน) และหลังจากปี 1960 เป็นต้นมา การแต้มหน้าปัดด้วยสีผสมเรเดียม ได้ถูกแทนที่ ด้วยโพรมีเทียม (promethium; Pm) และเปลี่ยนเป็นทริเทียม (tritium) เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าอนุภาคบีตาจากการสลายของทริเทียมจะเป็นอันตรายเมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการกิน

            สิ่งเดียวที่เป็นประโยชน์จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้คือ ในปี 1949 ทางรัฐสภาของสหรัฐได้มีมติผ่านร่างกฏหมาย ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่เป็นโรคอันเกิดจากการใช้แรงงาน (occupational disease) โดยให้ครอบคลุมไปถึงระยะเวลาที่จะมีการฟ้องร้องในภายหลังเมื่อพบว่าเป็นโรคนั้น แม้จะไม่ได้ทำงานนั้นแล้วก็ตาม

            ตัวมาดามคูรีผู้ค้นพบเรเดียม ก็เสียชีวิตในปี 1934 ด้วยวัย 67 ปี ด้วยโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) อันเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการได้รับรังสี สาวเรเดียมคนหนึ่งสามารถมีชีวิตยืนยาวรอดมาได้ จนสามารถฉลองอายุครบ 100 ปี ในปี 2006 ที่ผ่านมานี้ เนื่องจากเธอไม่ยอมใช้ริมฝีปากลูบขนแปรง จึงทำงานได้ช้าและถูกไล่ออกจากงานเมื่อทำไปได้เพียงสองเดือน ซึ่งก็นานพอที่จะทำให้สูญเสียฟัน ไปหมดทั้งปากเช่นกัน แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สาวเรเดียมอีกเป็นจำนวนมากต้องเสียชีวิตไป โดยไม่มีการฟ้องร้องค่าเสียหาย สถานการณ์ที่ผ่านมาของพวกเธอเหล่านั้นเป็นอดีตอันเจ็บปวด ที่ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่สิ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนและแรงกระตุ้นให้แก่คนรุ่นหลัง ในการหาทางระวังและป้องกันไม่ให้มีสิ่งเลวร้ายหรือโรคจากการทำงานเกิดขึ้นได้อีก ดังเช่นขณะนี้ทางเมืองออตตาวา (Ottawa) ประเทศแคนาดา ซึ่งเคยมีโรงงานระบายสีหน้าปัดนาฬิกาด้วยเรเดียมอยู่สองแห่ง กำลังรณรงค์หาเงินสร้างรูปหล่อโลหะเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สาวเรเดียมที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการทำงาน

            เรื่องราวของสาวเรเดียม ยังคงถูกนำมาถ่ายทอดและอ้างอิงในรูปแบบต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบทกวี หนังสือ ละครเวที เรื่องสั้นและภาพยนต์ และจะยังคงถูกกล่าวถึงต่อไปอีกนานเท่านาน

บรรณานุกรม

โพสต์เมื่อ : 24 พฤศจิกายน 2554