Nuclear Science
STKC 2555

เกริ่น ๆ เรื่องการป้องกันรังสี

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อันตรายของรังสีเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ และส่วนใหญ่กังวลกันอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์กลุ่มเล็ก ๆ เพียงในระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงทศวรรษ 1890 ภายหลัง การค้นพบรังสีเอกซ์ และ ปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) ในธรรมชาติ การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า การได้รับรังสีอาจเป็นสาเหตุของ ปัญหารุนแรงต่อสุขภาพ ตั้งแต่ผมร่วง ผิวหนังระคายเคือง ไปจนถึงการเป็นหมัน และมะเร็ง ความไม่ใส่ใจต่อภัยต่าง ๆ ของรังสีเอกซ์และเรเดียม และนำไปใช้ในจุดประสงค์ ที่ไม่สลักสำคัญ นำไปสู่ผลตามมาที่น่าเสียใจแก่ผู้คนที่ได้รับปริมาณรังสีสูง ๆ ต่อมาเมื่อประสบการณ์ และข้อมูลจากการทดลอง ต่อผลของรังสีค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้น วงการวิชาชีพเกี่ยวกับรังสีจึงได้พัฒนา ข้อแนะนำ (guidelines) เพื่อปกป้อง เจ้าหน้าที่เทคนิครังสีเอกซ์ และเจ้าหน้าที่ด้านรังสีประเภทอื่น ๆ จากการได้รับรังสีเกินกว่าที่ควรเป็น
         

ในปี 1934 ในสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการจากตัวแทนวงการวิชาชีพ ต่าง ๆ กับผู้ผลิตอุปกรณ์เอกซเรย์ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาหมาด ๆ ได้เสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่า ให้กำหนดรังสีในเชิงปริมาณเรียกว่า “ปริมาณรังสีพอทน” (tolerance dose) เท่ากับ 0.1 เรินต์เกนต่อวัน สำหรับ การได้รับรังสีทั่วตัว (whole-body exposure) จาก แหล่งกำเนิดรังสีภายนอก (external source) สมาชิกในคณะกรรมการเชื่อว่า ระดับรังสีที่ต่ำกว่า ปริมาณรังสีพอทน นี้ สำหรับ “คนธรรมดาทั่วไป” (average individual) โดยทั่วไปน่าจะปลอดภัยและไม่ทำให้บาดเจ็บ จากนั้นในปีถัดมา คณะกรรมการป้องกันรังสีในระดับนานาชาติ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก 5 ประเทศ ก็ออกข้อกำหนดคล้าย ๆ กัน โดยคณะกรรมการทั้งสองคณะต่างก็ไม่ถือเอา ปริมาณรังสีพอทน ของตนว่าเป็นเด็ดขาด ทั้งนี้เนื่องจากหลักฐานจากประสบการณ์ยังกระท่อนกระแท่น และหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสององค์กรต่างเชื่อมั่นว่า ข้อมูลที่มี เพียงพอให้ข้อกำหนดของตนมีความสมเหตุสมผล และมีความปลอดภัยมากพอ สำหรับคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับรังสีในการปฏิบัติงานของเขา

          จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมา รุ่งอรุณแห่งยุคปรมาณูทำให้เรื่องของ ความปลอดภัยทางรังสี (radiation safety) ซับซ้อนขึ้นอย่างมากด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกได้แก่ การแบ่งแยกนิวเคลียส (nuclear fission) ทำให้มี “ไอโซโทปรังสี” (radioactive isotope) หลายชนิดที่ไม่มีในธรรมชาติเกิดขึ้นมา ดังนั้น แทนที่จะพิจารณากันเพียงแค่รังสีเอกซ์และเรเดียมอย่างเคย ผู้ประกอบวิชาชีพ ในสาขาการป้องกันรังสี ก็ต้องหันมาประเมินภัยจากสารรังสีใหม่ ๆ ที่ยังมีความรู้น้อยมาก ประการที่สอง คือ ปัญหาด้านความปลอดภัยทางรังสีได้ขยายไปยังประชาชนในหลาย ภาคส่วน ซึ่งมีโอกาสได้รับรังสีจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์พลังงานนิวเคลียร์อย่างใหม่ ๆ การป้องกันรังสีได้ขยายตัวออกไปจากกรณีทางการแพทย์ที่มีสัดส่วนจำกัด ไปสู่ปัญหาด้านสุขภาวะของสาธารณชนส่วนใหญ่

          ผลลัพธ์ประการหนึ่งจากภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่นี้ ทำให้องค์การวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ต้องหันมาประเมิน ข้อแนะนำด้านการป้องรังสี ของตนเสียใหม่ การปรับเปลี่ยนปรัชญาความปลอดภัยทางรังสีวิทยาเกิดขึ้น โดยการโละทิ้งแนวคิด ปริมาณรังสีพอทน ที่มีสมมุติฐานว่า การได้รับรังสีต่ำกว่าขีดจำกัดที่ระบุไว้นั้นโดยทั่วไป จะไม่มีอันตราย เพราะการทดลองทางพันธุศาสตร์ชี้ว่า เซลล์สืบพันธุ์ไวรับ (susceptible) มาก ต่อความเสียหายจากรังสี แม้ปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อถึงต้นทศวรรษ 1940 นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่บอกปัดความคิดที่ว่า การรับรังสีที่ต่ำกว่า ขีดเริ่มเปลี่ยน (threshold) หนึ่งใด จะไม่ส่งผลใด ๆ ตามมา เพราะอย่างน้อยก็ต้องส่งผลทางพันธุกรรมบ้าง พวกคณะผู้เชี่ยวชาญของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในปี 1946 ได้ชื่อว่า คณะกรรมการด้านการป้องกันรังสีแห่งชาต (National Committee on Radiation Protection: NCRP) ได้ดำเนินการซึ่งสะท้อนความเห็นที่เห็นพ้องต้องกัน ให้เปลี่ยนคำศัพท์ “ปริมาณรังสีพอทน” ไปเป็น “ปริมาณรังสีพอยอมได้สูงสุด” (maximum permissible dose) ซึ่งคิดว่าสื่อถึงหลักการที่ว่า “ไม่มี ‘ปริมาณรังสี’ ปริมาณเท่าใด ที่ประกาศได้ว่ามีความปลอดภัย” ได้ดีกว่า ทั้งนี้ นิยามของ “ปริมาณรังสีพอยอมได้” (permissible dose) หมายถึง“ปริมาณรังสีซึ่งตาม ความรู้ที่ประจักษ์ ในปัจจุบัน คาดว่าจะไม่ก่อความบาดเจ็บทางร่างกายที่ปรากฏเด่นชัด แก่บุคคลใดชั่วชีวิต” (in the light of present knowledge, is not expected to cause appreciable bodily injury to a person at any time during his lifetime.) พร้อมกับรับรองความเป็นไปได้ของผลร้ายอันทุกข์ทรมาน จากรังสีในปริมาณที่ต่ำวกว่าขีดจำกัด (limit) ที่ยินยอมได้ โดย NCRP ย้ำว่า ปริมาณรังสีพอยอมได้ นั้น มีรากฐานบนความเชื่อที่ว่า “ความเป็นไปได้ ของการเกิดความบาดเจ็บดังกล่าว ต้องต่ำมาก จนแม้คนธรรมดาทั่วไปควรยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ อย่างไม่ลังเล” (the probability of the occurrence of such injuries must be so low that the risk should be readily acceptable to the average individual.)

          จากการเติบใหญ่ของโครงการพลังงานอะตอมต่าง ๆ ตลอดจนปัจเจกบุคคลที่ทำงานกับต้นกำเนิดรังสี มีจำนวน เพิ่มขึ้นเป็นอันมาก พอถึงปี 1948 NCRP จึงตัดสินใจปรับลด “ขีดจำกัดปริมาณรับรังสีจากวิชาชีพ” (occupational exposure limits) ที่เสนอแนะไว้ ให้ลดลงร้อยละ 50 ของระดับเมื่อปี 1934 สำหรับองค์การแบบเดียวกันในระดับ นานาชาติ ซึ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการระหว่างประเทศด้านการป้องกันรังสี หรือ ไอซีอาร์พี (International Commission on Radiological Protection: ICRP) ก็รับรอง “ปริมาณรังสีพอยอมได้สูงสุด” (maximum permissible dose) ค่าเดียวกันนี้ ทั้งนี้ “ปริมาณรังสีทั่วตัวพอยอมได้สูงสุด” (maximum permissible whole body dose) ค่าใหม่ ที่ NCRP และ ICRP เสนอแนะ ได้แก่ 0.3 เรินต์เกนต่อสัปดาห์ (ทำงานหกวัน) สำหรับการรับรังสีของเนื้อเยื่อชนิด “วิกฤตที่สุด” (most critical) คือ อวัยวะสร้างเลือด อวัยวะสืบพันธุ์ และเลนส์ตา ขีดจำกัดที่สูงขึ้นใช้กับบริเวณของร่างกาย ที่ไวต่อรังสีน้อยกว่า นอกเหนือไปจากระดับรังสีที่กำหนดขึ้นสำหรับการรับรังสีเอกซ์หรือรังสีแกมมาแล้ว NCRP และ ICRP ยังกำหนด “ความเข้มข้นพอยอมได้สูงสุด” (maximum permissible concentration) ในอากาศและน้ำ ของสารรังสีจำนวนหนึ่งที่ปลดปล่อยรังสีแอลฟาและบีตาและมีโอกาสพบในร่างกาย (internal emitters) ด้วย ทั้งนี้เพราะอนุภาคแอลฟาและบีตาไม่สามารถผ่านทะลุเนื้อเยื่อมีชีวิตของมนุษย์จากภายนอกร่างกาย แต่ถ้าเข้าสู่ร่างกายจาการดื่มหรือกินอาหารหรือน้ำหรือหายใจอากาศที่ปนเปื้อนสารรังสี จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ

roentgen, unit of X-radiation or gamma radiation, the amount that will produce, under normal conditions of pressure, temperature, and humidity, in 1 kg (2.2 lbs) of air, an amount of positive or negative ionization equal to 2.58 ? 10?4 coulomb. It is named for the German physicist Wilhelm Conrad R?ntgen

          ขีดจำกัดพอยอมได้ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยทั้งสองกลุ่มนี้ ใช้เฉพาะแก่ “ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี” (radiation workers) แต่เนื่องจากผลทางพันธุกรรมของรังสี ตลอดจนโอกาสที่บุคคลอื่น ๆ ก็อาจได้รับรังสีจากอุบัติเหตุ หรือ เหตุฉุกเฉิน แต่ละองค์การจึงได้ออกข้อแนะนำสำหรับบุคคลในภาคส่วนที่ใหญ่ขึ้น โดยในมุมมองที่ว่า คนหนุ่มคนสาวมีสภาพไวต่อรังสีที่สูงกว่า NCRP จึงเสนอแนะให้ปรับลด ปริมาณรังสีพอยอมได้สูงสุดจากวิชาชีพ สำหรับผู้มีอายุต่ำวก่า 18 ปี ลดลง 10 เท่า สำหรับ ICRP ไปไกลกว่านั้น โดยการเสนอขีดจำกัด 1 ใน 10 ของระดับวิชาชีพนี้ สำหรับบุคคลทั่วไปทีเดียว

          อันที่จริงทั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้ ต่างก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือตำแหน่งที่เป็นทางการ แต่การที่ข้อเสนอแนะเหล่านี้เป็นผลสะท้อนจาก ข้อเท็จจริง และความเห็น จากผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าในสาขาการป้องกันรังสี ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางรังสี ดังนั้น คณะกรรมการพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Commission: AEC) ของสหรัฐอเมริกา จึงใช้ขีดจำกัดจากวิชาชีพของ NCRP แก่สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในการควบคุม และในปี 1954 หลังจากการผ่าน พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Act) ขีดจำกัดนี้ก็อยู่ใน ข้อบังคับ (regulations) ของ AEC สำหรับ ผู้รับใบอนุญาต (licensee) ด้วย

          สำหรับข้อบังคับด้านการป้องกันรังสีของ AEC สำหรับประชาชนทั่วไป ตราขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1955 และมีผลใช้บังคับในปี 1957 โดยเอาตามขีดจำกัดเสนอแนะของ NCRP ที่ใช้กับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี มากำหนดเป็นปริมาณรังสีพอยอมได้เท่ากับ 1 ใน 10 ของระดับรังสีจากวิชาชีพ มาใช้กับภาคส่วนของประชาชนทั่วไป ที่มีโอกาสได้รับผลจากการดำเนินการทางนิวเคลียร์ของผู้รับใบอนุญาต

โพสต์เมื่อ : 2 ธันวาคม 2554