Nuclear Science
STKC 2555

มาตราวัดเกี่ยวกับผลทางชีวภาพของการรับรังสี

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          มาตรา หรือ มาตราวัด (measure) ที่เกี่ยวข้องกับผลทางชีววิทยา เมื่อต้องปฏิบัติงานกับรังสีเอกซ์ และ รังสีแกมมา ได้แก่ เอกซ์โพเชอร์ (exposure) ปริมาณรังสี (dose) หรือ ปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose) ปริมาณรังสีสมมูล (dose equivalent) และ อัตราปริมาณรังสี (dose rate)

เอกซ์โพเชอร์ (exposure)
          เอกซ์โพเชอร์ เป็นการวัดความแรงของสนามรังสี ณ ตำแหน่งใด ๆ ในอากาศ วัดได้ด้วย เครื่องสำรวจรังสี (survey meter) วิธีการคือ วัด การแตกตัวเป็นไอออน (ionization) ของโมเลกุลในมวลจำนวนหนึ่งของอากาศ โดยนิยามว่า ปริมาณของประจุ (ซึ่งก็คือ ผลรวมของไอออนที่มีประจุเดียวกัน) ที่เกิดขึ้นในมวลของอากาศ 1 หน่วย ที่โฟตอนปฏิสัมพันธ์ (interacting photons) ถูกดูดกลืนอย่างสมบูรณ์ในมวลนั้น มีหน่วยวัดที่นิยมใช้ คือ เรินต์เกน (roentgen: R) โดย 1 เรินต์เกน หมายถึง ปริมาณของพลังงานโฟตอนที่ต้องใช้ในการผลิต คู่ไอออน (ion pair) จำนวน 1.610 x 1012 คู่ ในอากาศแห้ง (ที่ 0oC) ปริมาตร 1 ลบ.ซม.(2.08 x 109 คู่ที่อุณหภูมิและความดันมาตรฐาน หรือ STP) ทั้งนี้ อากาศที่มีมวล 1 กิโลกรัม ถ้าสนามรังสีมีความแรง 1 เรินต์เกน จะสะสมประจุได้ 2.58 x 10-4 คูลอมบ์ ข้อดีของการวัดรังสีในหน่วยนี้คือ สามารถวัดได้โดยตรงด้วย เครื่องสำรวจรังสี แต่ก็มีข้อจำกัดว่าใช้วัดได้เฉพาะ สนามรังสีในอากาศเท่านั้น

ปริมาณรังสี (dose) หรือ ปริมาณรังสีดูดกลืน (absorbed dose)
          ในขณะที่ เอกโพเชอร์ ใช้วัดเฉพาะกับอากาศ ปริมาณรังสีดูดกลืน หมายถึง ปริมาณของพลังงานที่ รังสีชนิดก่อไอออนถ่ายโอนให้กับมวลของสสารส่วนที่พิจารณาอยู่ กล่าวคือ เกี่ยวข้องกับปริมาณ การแตกตัวเป็นไอออน ในอากาศ ที่เกิดจากรังสีเอกซ์หรือรังสีแกมมา จนถึงระดับที่ก่อ ความเสียหายทางชีวภาพ (biological damage) แก่เนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสนามรังสีนั้น หน่วยของปริมาณรังสีดูดกลืนที่ใช้ทั่วไป คือ “แร็ด” (rad ย่อมาจาก radiation absorbed dose) มีนิยามว่า ปริมาณรังสีที่เทียบเท่ากับพลังงาน 100 เอิร์ก ต่อ 1 กรัม ของน้ำหนักวัสดุที่พิจารณา และในหน่วยเอสไอ (SI unit) คือ “เกรย์” (gray ย่อว่า Gy) โดยมีนิยามว่า ปริมาณรังสีที่เทียบเท่ากับ พลังงาน 1 จูล ต่อมวล 1 กิโลกรัม ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบหน่วยทั้งสองนี้ เมื่อ 1 จูลเท่ากับ 107 เอิร์ก และ 1 กิโลกรัมเท่ากับ 1000 กรัม จึงได้ว่า 1 เกรย์ เท่ากับ 100 แร็ด
          ขนาดของ ปริมาณรังสีดูดกลืน ขึ้นกับ ความเข้ม (intensity) หรือ กัมมันตภาพ (activity) ของต้นกำเนิดรังสี ระยะทางจากต้นกำเนิดรังสีไปยังวัสดุที่ได้รับรังสี และ ระยะเวลา ที่วัสดุนั้นได้รับรังสี โดยกัมมันตภาพของ ต้นกำเนิดรังสี หมายถึง อัตราปริมาณรังสีนั่นเอง และอาจมีหน่วยเป็น แร็ดต่อชั่วโมง (rad/hr) มิลลิเรินต์เกนต่อชั่วโมง (mR/hr) มิลลิเกรย์ต่อวินาที (mGy/sec) เป็นต้น
          วัสดุต่างชนิดกันที่รับรังสีเท่า ๆ กัน (กล่าวคืออยู่ในสนามรังสีเดียวกัน จึงมีเอกซ์โพเชอร์เท่ากัน) แต่ก็อาจจะดูดกลืนปริมาณรังสีไว้ไม่เท่ากันก็ได้ โดย สำหรับเนื้อเยื่อของมนุษย์ สนามรังสีแกมมาที่มีเอกซ์โพเชอร์ 1 เรินต์เกน ปริมาณรังสีดูดกลืนจะประมาณเท่ากับ 1 แร็ด

ปริมาณรังสีสมมูล (dose equivalent)
          ในกรณีที่รังสีเกิดปฏิสัมพันธ์กับเนื่อเยื่อสิ่งมีชีวิต (living tissue) สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องพิจารณา ได้แก่ ชนิดของรังสี กล่าวคือนอกจาก ผลทางชีวภาพของรังสีจะขึ้นอยู่กับ ปริมาณรังสีดูดกลืน แล้ว ก็ยังขึ้นกับ ชนิดของรังสีด้วย เนื่องจากด้วยปริมาณรังสีที่ถ่ายโอนให้กับเนื่อเยื่อเท่า ๆ กัน รังสีบางชนิดก่อกลับผลรุนแรง มากกว่ารังสีอื่น เช่น ด้วยปริมาณรังสีดูดกลืนเท่ากัน รังสีแอลฟาก่อผลเสียหายแก่เนื้อเยื่อ มากกว่ารังสีบีตาประมาณ 20 เท่าตัว เมื่อคำนึงถึงความแปรผันนี้ เมื่อกล่าวถึงความเสี่ยงต่อสุขภาวะของมนุษย์จากการรับรังสี จึงใช้เป็นปริมาณอีกอย่างหนึ่งคือ “ปริมาณรังสีสมมูล” โดยกำหนดว่าเท่ากับ ปริมาณรังสีดูดกลืน คูณกับ ตัวประกอบ “คุณภาพ” หรือ ตัวประกอบ “ปรับแก้” (quality or adjustment factors) ซึ่งมีความจำเพาะ ต่อศักยภาพความเสียหายทางชีวภาพของเนื้อเยื่อต่อรังสีชนิดนั้น ๆ
          ดังนั้น ในศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันรังสี จึงมีการพัฒนา ตัวประกอบเชิงคุณภาพ หรือ แฟกเตอร์คุณภาพ (quality factor ย่อว่า Q) ขึ้นมาใช้สำหรับเป็นตัวถ่วงน้ำหนักของ ปริมาณรังสีดูดกลืน โดยเป็นการคำนึงถึง ความยังผลทางชีวภาพที่สันนิษฐานไว้ก่อน (presumed biological effectiveness.)กล่าวคือ รังสีชนิดที่ค่า Q สูงกว่า จะก่อความเสียหายต่อเนื้อเยื่อได้มากกว่า นั่นคือ เมื่อคูณปริมาณรังสีดูดกลืนด้วย Q จะได้เป็น ปริมาณรังสีสมมูล (dose equivalent) ซึ่งมีหน่วยพิเศษเรียกว่า เร็ม (rem ย่อมาจาก roentgen equivalent in man) และหน่วยเอสไอคือ ซีเวิร์ต (sievert ย่อว่า Sv) โดย 1 เร็ม เท่ากับ 0.01 ซีเวิร์ต ในสหรัฐอเมริกา หน่วยเร็มยังนิยมใช้ ในหมู่ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี แต่ในอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนมาใช้หน่วยเอสไอ ซึ่งก็คือ ซีเวิร์ต อนึ่ง ในกรณีการได้รับรังสีเอกซ์หรือรังสีแกมมา ตัวประกอบเชิงคุณภาพเท่ากับ 1 (ดังในตารางด้านล่าง) ดังนั้น ดังกล่าวแล้วว่า สำหรับรังสีแกมมา เอกซ์โพเชอร์ 1 เรินต์เกน มีค่าเท่ากับปริมาณรังสีดูดกลืน 1 แร็ด และการที่ค่า Q ของรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาก็เท่ากับ 1 จึงทำให้ สำหรับรังสีแกมมา ค่าของทั้ง เรินต์เกน แร็ด และ เร็ม มีค่าเท่ากัน

ตารางแสดงตัวประกอบเชิงคุณภาพ (Q) ของรังสีชนิดต่าง ๆ

  ชนิดของรังสี               (Type of Radiation)

แร็ด (Rad)

ตัวประกอบเชิงคุณภาพ (Q Factor)

เร็ม (Rem)

ซีเวิร์ต (Sievert)

รังสีเอกซ์ (X-Ray)

1

1

1

0.01

รังสีแกมมา (Gamma Ray)

1

1

1

0.01

รังสีบีตา (Beta Particles)

1

1

1

0.01

นิวตรอนช้า (Thermal Neutrons)

1

5

5

0.05

นิวตรอนเร็ว (Fast Neutrons)

1

10

10

0.1

อนุภาคแอลฟา (Alpha Particles)

1

20

20

0.2

อัตราปริมาณรังสี (dose rate)
          อัตราปริมาณรังสี เป็นการวัดว่าได้รับปริมาณรังสีรวดเร็วเพียงใด โดยมักแสดงด้วยหน่วย เรินต์เกนต่อชั่วโมง (R/hr) มิลลิเรินต์เกนต่อชั่วโมง (mR/hr) เร็มต่อชั่วโมง (rem/hr) มิลลิเร็มต่อชั่วโมง (mrem/hr) การทราบอัตราปริมาณรังสีช่วยให้สามารถ คำนวณปริมาณรังสีที่ได้รับในเวลาช่วงหนึ่งได้ ยกตัวอย่าง สมมติว่า อัตราปริมาณรังสีเท่ากับ 0.8 เร็มต่อชั่วโมง ผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณนี้นาน 2 ชั่วโมง ก็จะได้รับปริมาณรังสีเท่ากับ 1.6 เร็ม

โพสต์เมื่อ : 6 ธันวาคม 2554