Nuclear Science
STKC 2555

ประวัติย่อการตรวจหาและการวัดรังสีชนิดก่อไอออน
1. เกริ่นนำ

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          รังสีชนิดก่อไอออน (ionizing radiation) ทำให้อะตอมหรือโมเลกุลที่ ไม่มีประจุ (neutral) เกิดมีประจุลบหรือประจุบวกได้ รังสีชนิดก่อไอออนที่รู้จักกันดีที่สุด ได้แก่ รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และรังสีนิวตรอน โดยรังสีที่เป็นอนุภาคที่มีประจุ เช่น รังสีแอลฟา หรือรังสีบีตา มีผลให้เกิด การแตกตัวเป็นไอออน (ionization) ได้โดยตรง ในขณะที่รังสีที่ไม่มีประจุ เช่น รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสีนิวตรอน มีผลทางอ้อมให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน กล่าวคือ ในขั้นแรกรังสีเหล่านี้ไปก่อเกิดอนุภาคที่มีประจุเสียก่อน จากนั้นอนุภาคที่มีประจุจึงไปก่อผลให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออนอีกต่อหนึ่ง
 
  สเปกตรัมของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้ามีรังสีชนิดก่อไอออนอยู่ด้านขวาสุดและมีช่วงพลังงานสูงที่สุดด้วย

ปฏิสัมพันธ์ของรังสีชนิดก่อไอออนต่อสสาร (ในกรอบสีส้ม)

  • อนุภาคแอลฟาทำให้อะตอมในสสารเกิด การแตกตัวเป็นไอออนไปตลอดทางที่ผ่านไป
  • อนุภาคบีตาให้ผลเหมือนอนุภาคแอลฟา และอาจเกิดรังสีแกมมาเรียกว่า bremsstrahlung ด้วย
  • รังสีแกมมาทำให้อะตอมในสสาร ปล่อยรังสีแกมมา กับอนุภาคบีตา ซึ่งทำให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน
  • อนุภาคนิวตรอนอาจกระแทก อนุภาคโปรตอนในอะตอมออกมา และไปก่อการแตกตัวเป็นไอออน
(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Types_of_radiation. svg)  
หมายเหตุ : รังสีแกมมาแทนด้วยเส้นเป็นคลื่นอนุภาคที่มีประจุและนิวตรอนแทนด้วยเส้นตรง สำหรับวงกลมเล็ก ๆ นั้น แสดงกระบวนการแตกตัวเป็นไอออน
          รังสีเป็นรูปหนึ่งของพลังงาน และพลังงานนี้บางส่วน หรือทั้งหมด อาจถูกดูดกลืนภายใน ตัวกลาง (medium) ที่เหมาะสมได้ และก่อ “ผล” (effect) ขึ้นมา ดังนั้น การตรวจหา (detection) และ การวัด (measurement) รังสีจึงใช้การตรวจหาและการวัดผลของรังสีในตัวกลางนั่นเอง และประวัติการอุบัติการณ์ตรวจหารังสี ก็สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการค้นพบรังสี และการค้นพบผลของรังสี
          ธรรมชาติของ วัสดุกัมมันตรังสี (radioactive material) หรือ สารรังสี มีการปล่อยรังสีชนิดก่อไอออนออกมา โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกใด ๆ และพลังงานของรังสีมีลักษณะเฉพาะตามชนิดของสารรังสี ดังนั้น เครื่องตรวจหารังสีชนิดต่าง ๆ จึงใช้ประโยชน์จากการวัดการแจกแจงพลังงานของรังสีชนิดนั้น (สเปกโทรเมตรี)
แม้ว่ารังสีชนิดก่อไอออนจะมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เช่น รังสีคอสมิก (cosmic rays) วัสดุกัมมันตรังสีเกิดตามธรรมชาติ (naturally occurring radioactive materials) แต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดมา ไม่ปรากฏการสังเกตพบ รังสีชนิดก่อไอออน จนกระทั่งเมื่อราว 100 ปีมานี้เอง ทั้งนี้คงเพราะ มนุษย์ไม่มีสัมผัสเฉพาะใดที่รู้สึกได้ว่า มีรังสีชนิดนี้อยู่หรือไม่ และเมื่อก่อนก็ไม่ปรากฏความสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ประการใด ในการพัฒนาเครื่องมือที่สามารถขยายการรับรู้ต่อรังสีชนิดนี้ได้ ต่างกับกรณีการพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดรังสีแสง ที่เรียกว่า ทัศนศาสตร์ (optics)
อิเล็กโทรสโคปแบบแผ่นทองคำเปลว เพลตถ่ายรูปรังสีของแบ็กเกอแรล
          ในปัจจุบัน ทราบกันดีว่าอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจหารังสีชนิดก่อไอออนได้ ที่จริงมีอยู่มาแต่เก่าก่อนแล้ว เช่น ปรากฏการณ์เกี่ยวกับ เทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ (thermoluminescence) อธิบายได้ครั้งแรกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 อิเล็กโทรสโคปแบบแผ่นทองคำเปลว (gold leaf electroscope) ประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และ การถ่ายรูป ก็พัฒนาขึ้นมาระหว่างต้นศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดี จำเนียรกาลผ่านไปนานปีมากทีเดียว กว่าที่ประตูสู่ศาสตร์ใหม่เอี่ยมอ่องว่าด้วยรังสีชนิก่อไอออนจะเปิดออกมาโดย วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Conrad Rontgen) เมื่อ ค.ศ. 1895 และโดย อองรี แบ็กเกอแรล (Henri Becquerel) เมื่อปี 1896
เทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ เป็นปรากฏการณ์ การเปล่งแสงของสารบางชนิด เมื่อได้รับความร้อน  นำมาประยุกต์ใช้วัดปริมาณรังสี ที่สารนั้นดูดกลืนไว้  เช่น  การหาอายุโบราณวัตถุ และโบราณสถาน
เทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ เกิดเมื่อสารได้รับรังสี และดูดกลืนพลังงานจากรังสีไว้ ทำให้อิเล็กตรอนส่วนหนึ่งหลุดออกมา  และบางส่วนจะถูกจับไว้ ในผลึกที่มีโครงสร้างไม่สมบูรณ์  ซึ่งเมื่อนำมากระตุ้นด้วยความร้อน อิเล็กตรอนดังกล่าวจะถูกปลดปล่อยออกมา พร้อมทั้งคายพลังงานในรูปของแสง
ตัวอย่างสารเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ ในธรรมชาติ เช่น แร่แคลไซต์  แร่โดโลไมต์  หินฟันม้า  หินเขี้ยวหนุมาน  เพทาย  และสารที่สังเคราะห์ขึ้น  เช่น  แคลเซียมฟลูออไรด์
ปรากฏการณ์เทอร์โมลูมิเนสเซนซ์อาจอธิบายได้เป็น 3 ระยะ ในรูปแสดงกรณีเกรนของควอตซ์ (ภาพ Wikimedia)

โครงเรื่องจาก Detecting and measuring ionizing radiation – a short history โดย F.N. Flakus, IAEA BULLETIN, VLO 23, No 4

โพสต์เมื่อ : 13 ธันวาคม 2554