Nuclear Science
STKC 2555

อนุสาวรีย์ผู้สละชีพเพื่อรังสีเอกซ์และเรเดียม
Monument to the X-ray and Radium Martyrs

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          ภายหลังการค้นพบรังสีเอกซ์และธาตุกัมมันตรังสีเรเดียม เมื่อปลายศตวรรษที่ 20 มนุษยชาติได้ทุ่มเทศึกษา และนำรังสีทั้งสองแหล่งนี้มาใช้ในทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์อย่างกว้างขวาง โดยยังไม่รู้ถึงภัย จากการได้รับรังสีแรง ๆ และนาน ๆ ทำให้มีผู้คนในแวดวงเหล่านี้เกิดอาการเจ็บป่วย จนแม้ถึงขั้นเสียชีวิต ให้กับความก้าวหน้า แก่วิทยาการรังสีเอกซ์ และการใช้รังสีจากเรเดียม ซึ่งต่อมาได้มีการก่อสร้าง “อนุสาวรีย์ผู้สละชีพเพื่อรังสีเอกซ์และเรเดียม” (Monument to the X-ray and Radium Martyrs) เพื่อรำลึก และแสดงความขอบคุณบุคคล แก่ผู้สละชีวิตจากทุกชนชาติเหล่านี้ โดยในขั้นต้นได้สลักรายชื่อไว้ที่อนุสาวรีย์ รวม 169 คน
อนุสาวรีย์ผู้สละชีพเพื่อรังสีเอกซ์และเรเดียม จากทุกเชื้อชาติ
ณ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี (ก่อตั้ง ค.ศ. 1936)
(ภาพซ้ายจาก : Philips Medical System)
ในขั้นต้นมีรายชื่อ 169 คน และสลักข้อความว่า

“Den R?ntgenologen und Radiologen aller Nationen, ?rzten, Physikern, Chemikern, Technikern, Laboranten und Krankenschwestern, welche ihr Leben zum Opfer brachten im Kampfe gegen die Krankheiten ihrer Mitmenschen. Sie waren heldenm?tige Wegbereiter f?r eine erfolgreiche und gefahrlose Anwendung der R?ntgenstrahlen und des Radiums in der Heilkunde. Unsterblich ist des Toten Tatenruhm Die Deutsche R?ntgen Gesellschaft”.
หมายเหตุ คำว่า Martyr ชาวคริสต์ใช้หมายถึง “สักขีพยาน” (witness) ชาวคริสต์ในประเทศไทยจึงแปลไว้ว่า “มรณะสักขี” แต่คำนี้มีรากศัพท์จากภาษาอินโด-ยุโรเปียน ตรงกับคำสันสกฤตว่า สมารติ หรือ สรติ หรือ อนุสรณ์

          รังสีเอกซ์ (x-rays) ค้นพบโดยชาวเยอรมันชื่อ วิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1895 ในปีถัดมาก็มีการนำรังสีเอกซ์ไปใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายภาพรังสี (roentgenography หรือ skiagraphy หรือ radiography) ในทางการแพทย์ โดยในปี 1896 เพียงปีเดียว มีบทความทั่วโลกอธิบายการใช้รังสีเอกซ์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในเอกสาร หนังสือ หนังสือพิมพ์ และวารสารชั้นนำ รวมกันเกือบ 1000 เรื่อง

          ไม่กี่เดือนภายหลังการค้นพบรังสีเอกซ์ คือเมื่อกุมภาพันธ์ 1896 ด้วยแรงบันดาลใจจากการค้นพบรังสีเอกซ์ ของเรินต์เกน ชาวฝรั่งเศสชื่อ อองรี แบ็กเกอแรล (Henry Becquerel) ต้องการค้นหารังสีเอกซ์จากสารเรืองแสง ที่เป็นสารประกอบยูเรเนียม ทำให้เขาค้นพบ ปรากฏการณ์กัมมันภาพรังสี (radioactivity) กล่าวคือ เขาพบว่า ยูเรเนียมสามารถแผ่รังสีอื่นที่ไม่ใช่รังสีเอกซ์ออกมา (ต่อมา เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) จึงพบว่าเป็นรังสีหลายชนิดปนกัน ได้แก่ รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา) จึงเรียกยูเรเนียมเป็น ธาตุกัมมันตรังสี (radioactive element) และต่อมาในปี 1898 สามีภรรยา ปีแอร์และมารี กูรี (Pierre and Marie Curie) ก็ค้นพบธาตุกัมมันตรังสีธาตุใหม่คือ เรเดียม (radium) จากการสกัดสินแร่ พิตช์เบลนด์ (pitchblende) ซึ่งแผ่รังสีเช่นเดียวกับยูเรเนียม แต่มีความแรงสูงกว่าหลายเท่า รังสีจากเรเดียมถูกนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ เช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ โดยใช้มากในฝรั่งเศส ประเทศที่มันถูกค้นพบ และในสหรัฐอเมริกาซึ่งมั่งคั่ง และมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่รวดเร็วมาก

          การค้นพบรังสีเอกซ์ทำให้มีการผลิตเครื่องเอกซเรย์ สำหรับถ่ายภาพรังสีโครงสร้างของร่างกาย ตลอดจนการใช้รังสีเอกซ์ในการวินิจฉัย และบำบัดรักษาอย่างกว้างขวาง ซึ่งนานหลายปี ที่รังสีถูกใช้อย่างเสรี ในทางการแพทย์ด้วยปริมาณรังสีสูง ไม่มีการป้องกันทั้งแก่ผู้ป่วยและแพทย์เองด้วย อย่างน้อยจนถึงปี 1930 หญิงมีครรภ์ยังมีการฉายรังสี เพื่อรักษาโรคที่เกิดบริเวณกระดูกเชิงกราน ซึ่งมีรายงานความผิดปกติของเด็กทารก ที่คลอดออกมา

          อันที่จริงเสียงเตือนถึงภัยที่อาจเกิดจากรังสีเอกซ์มีมาตั้งแต่แรก เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการค้นพบรังสีเอกซ์ เช่น ในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1896 แอล.อาร์.แอล. โบเวน (L. R. L. Bowen) เตือนว่ารังสีเอกซ์ ทำให้เกิดผลเหมือนกับ “แดดไหม้” (sunburn) เดือนเมษายนปีเดียวกัน แอล.จี. สตีเวน (L.G. Steven) รายงานในวารสารการแพทย์อังกฤษว่า ผู้ที่ได้รับรังสีเอกซ์จะมีอาการ แดดไหม้ และ ผิวหนังอักเสบ (dermatitis) หลักฐานชิ้นแรก ๆ ว่ารังสีเอกซ์เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย ก็คือ เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพรังสี เกิดแผลตามผิวหนัง บางรายถึงกับเสียนิ้วมือ

          แต่เชื่อหรือไม่ว่า การได้รับอันตรายจากรังสีเอกซ์ เกิดขึ้นก่อนการค้นพบรังสีเอกซ์เสียอีก

          นายแพทย์ เอมิล เฮอร์แมน กรูเบ (Emil Herman Grubbe) เป็นชาวอเมริกัน (พ่อเป็นผู้อพยพชาวเยอรมัน) เขาทดลองกับ หลอดรังสีแคโทด (cathode ray tube) ที่เรียกว่า หลอดแบบครูกส์ (Crookes tube) เป็นเวลานาน และระหว่างนั้นเขามีอาการผิวหนังและเล็บค่อย ๆ หลุดลอก ต่อมาก็เกิดตุ่มพอง และเนื้องอกตามมือและคอ โดยหาสาเหตุไม่ได้ ในช่วงนั้นเอง เรินต์เกนก็ประกาศการค้นพบรังสีเอกซ์จากหลอดรังสีแคโทด และกรูเบก็ตระหนักว่า รังสีเอกซ์นี่เองที่เป็นสาเหตุความเจ็บป่วยของเขา และเริ่มป้องกันตนเองจากรังสี โดยเขากล่าวว่า “แม้จะสายไปแล้วก็ตาม”

          แทนที่จะละเลิกไป กรูเบ ซึ่งรู้จักหลอดรังสีแคโทดเป็นอย่างดี ก็กลายเป็นคนแรกในสหรัฐอเมริกา ที่นำรังสีเอกซ์มาใช้รักษามะเร็งแก่คนไข้ อันเป็นการกำเนิดของ วิทยามะเร็งเชิงรังสี (radiation oncology) ตลอดชีวิตของกรูเบเอง เขารับการผ่าตัด 93 ครั้ง เพื่อตัดเนื้องอกบ้าง หูดบ้าง ที่เกิดจากการรับรังสี ท้ายที่สุด เขาต้องสูญเสียมือซ้ายและปลายแขน สูญเสียจมูกเกือบทั้งหมด กรามบน และริมฝีปากบนด้วย คงเพราะเขาเป็นคนแรกที่คิดนำตะกั่วมาใช้กำบังรังสี จึงไม่น่าเชื่อว่าเขาจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 85 ปี โดยเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ปี 1960 จากการรุมเร้าของมะเร็งหลายอย่างที่รุมกัดกินร่างกายของเขา

          ที่ประเทศอังกฤษ แผนกการรักษาด้วยไฟฟ้า (Electrotherapeutic Department) ของ โรงพยาบาลลอนดอน (London Hospital) หัวหน้าแผนกได้มอบหมายให้ เออร์เนสต์ ฮาร์แน็ก (Ernest Harnack) รับผิดชอบการเปิดให้บริการรักษาด้วยรังสีเอกซ์ โดยมีผู้ช่วย 3 คน ได้แก่ เรจินัลด์ แบล็กออล (Reginald Blackall) เออร์เนสต์ วิลสัน (Ernest Wilson) และ แฮโรลด์ ซักเกอส์ (Harold Suggars) ถึงปี 1903 ผู้ช่วยทั้งสามคน ต่างเจ็บป่วยจากรังสี วิลสันซึ่งถ่ายภาพรังสีเอกซ์มือของเขาอย่างต่อเนื่อง แสดงอาการเสื่อมที่กระดูก มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นมะเร็งและเสียชีวิตเมื่อปี 1911 ฮาร์แน็กเอง ท้ายที่สุดต้องตัดมือทั้งสองข้าง ซักเกอร์และแบล็กออล มีชีวิตอยู่นานกว่า และช่วยกันก่อตั้ง วิทยาลัยนักถ่ายภาพรังสี (College of Radiographers)

          ทั้งเรจินัลด์ แบล็กออล และเออร์เนสต์ วิลสัน คือชาวอังกฤษที่มีชื่อสลักอยู่บนอนุสาวรีย์แห่งนี้

          ทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) ยอดนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน เขาเป็นผู้ออกแบบ ประดิษฐ์ และผลิตในเชิงพาณิชย์อุปกรณ์ที่เขาตั้งชื่อว่า ฟลูออโรสโคป หรือ เครื่องกำเนิดภาพรังสี (fluoroscope อาจเรียกว่า radioscope หรือ roentgenoscope ก็ได้ ที่จริงอุปกรณ์นี้คนแรกที่คิดขึ้นก่อน มีชื่อว่า เอนรีโก ซาลวีโอนี (Enrico Salvioni) ชาวเมืองเปรูจา ประเทศอิตาลี จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 1896 ก็ถูกอังกฤษลอกแบบไปใช้ แต่เอดิสันปรับปรุงได้ดีที่สุด) ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก พื้นฐานการออกแบบอุปกรณ์นี้ ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เอดิสันพูดว่าเขา “กลัว” และได้ยกเลิกงานทั้งหมด ที่ใช้รังสีเอกซ์ในปี 1903 เพราะตาของเขาเองได้รับความเสียหาย จากงานนี้ และผู้ช่วยของเขาชื่อ แคลเรนซ์ แดลลี (Clarence Dally) ต้องเสียแขนข้างหนึ่ง นิ้วหลายนิ้ว และสุดท้ายเสียชีวิต จากการทดลองกับรังสีเอกซ์อย่างเอาจริงเอาจัง เช่น ในการทดสอบการทำงานของฟลูออโรสโคป จะใช้มือของตัวเอง กั้นเส้นทางที่รังสีเอกซ์ผ่านเข้ามา (ดูรูปด้านล่าง-ขวา)

โทมัส เอดิสัน
แคลเรนซ์ แดลลี
ใช้มือทดสอบฟลูออโรสโคป

          แคลเรนซ์ แดลลี ก็มีชื่อสลักอยู่บนอนุสาวรีย์นี้ และเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่มีบันทึกว่า ได้เสียชีวิตจากการได้รับรังสีเป็นเวลานาน

          กรณีของชาวอเมริกันที่กล่าวขานกันมากอีกคนหนึ่งก็คือ มีห์แรน แคสซะบียน (Mihran Kassabian) เดิมเขาเป็นช่างภาพ และมีความสนใจด้านการรักษาด้วยไฟฟ้า เมื่อการใช้รังสีเอกซ์บูมขึ้นมา เขาก็พัฒนาตัวเองเป็น นักถ่ายภาพรังสี (skiagrapher) และเป็นผู้สอนการถ่ายภาพรังสีด้วยที่ วิทยาลัยและโรงพยาบาลการแพทย์-ศัลยศาสตร์แห่งฟิลาเดลเฟีย (Medico-Chirurgical College and Hospital of Philadelphia) เขาผนวกงานถ่ายภาพรังสีและการรักษาด้วยไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ตั้งขึ้นเป็นแผนกการรักษาด้านวิทยารังสี ภายในเวลา 2 ปี เขาให้การตรวจวินิจฉัยด้วยรังสีเอกซ์แก่ผู้ป่วยมากกว่า 3000 ราย และถ่ายภาพรังสีมากกว่า 800 ครั้ง ทำให้เขาได้เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการรังสีเรินต์เกนของโรงพยาบาลเมื่อปี 1903

ห้องปฏิบัติการของมีห์แรน แคสซะเบียน
          เดือนเมษายน 1900 แคสซะเบียนเริ่มมีแผลไหม้จากรังสีเอกซ์ และถึงปี 1908 มือซ้ายของเขาจนต่อมาต้องตัดมือทิ้งไป เขาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกิดจากการรับรังสี เมื่อปี 1910 กรณีของเขาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกับรังสีมีการป้องกันรังสีอย่างจริงจังมากขึ้น
มีห์แรน แคสซะบียน
ในรูปเล็ก เขาถ่ายรูปมือ ที่ถูกรังสีของเขาเองเอาไว้

          ผู้สละชีพเพื่อรังสีชาวอเมริกันยังมีอีกมากโดยจะไม่กล่าวถึงในรายละเอียด เช่น อิลิซาเบท ไฟลช์แมน อะไชม์ (Elizabeth Fleischman Ascheim) ยูจีน วิลสัน แคลด์เวลล์ (Eugene Wilson Caldwell) หลุยส์ แอนดรูว์ ไวเกล (Louis Andrew Weigel) และวอลเทอร์ เจมส์ ดอดด์ (Walter James Dodd)

          ในเยอรมนีเริ่มมีมาตรการเตือนกันตั้งแต่ปี 1913 ในประเทศอังกฤษ มีผลการศึกษาหลายชิ้น ตรวจสอบผลของการรับรังสีเอกซ์ทั่วร่างกาย ในกลุ่มนักรังสีวิทยา และกลุ่มผู้ทำการทดลอง ก่อนมีมาตรฐานการรับรังสีในปี 1921 รายงานว่า บุคคลเหล่านี้มีอายุขัยสั้นลง สำหรับในสหรัฐอเมริกา แนวทางอย่างเป็นทางการมีขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 และเวลายิ่งผ่านไป แนวโน้มมาตรฐานการป้องกันรังสี ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น หลังจากตระหนักถึงผลในระยะยาวของการได้รับรังสี

          อีกหลักฐานหนึ่ง เกี่ยวกับความเสี่ยงของการได้รับรังสีเอกซ์ เปิดออกมาในปี 1927 โดย เฮอร์มันน์ โจเซฟ มูลเลอร์ (Hermann Joseph Muller) ตีพิมพ์ผลการทดลองในวารสาร Science ว่ารังสีเอกซ์เพิ่มอัตราการกลายพันธุ์ ของแมลงวันผลไม้ สูงกว่าการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ถึง 150 เท่าตัว ตามแต่ปริมาณรังสีที่ได้รับ โดยรังสีเอกซ์ไปแยกยีนส์จากกัน และทำให้จัดเรียงกันใหม่ ผลงานนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี 1946 และมูลเลอร์ต่อต้านการรับรังสีทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น อย่างที่ทำกันอยู่ และกระตุ้น ให้มีการป้องกันการรับรังสีเป็นประจำของแต่ละบุคคล

          ในด้านของเรเดียม ภายหลังการค้นพบเรเดียมแล้ว ภาวการณ์ตื่นเรเดียมก็ไม่ต่างไปจากการตื่นรังสีเอกซ์ กล่าวคือ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่ล่วงรู้อันตรายจาการได้รับรังสีปริมาณสูงและได้รับติดต่อกันนาน ๆ ทำให้มี ผลิตภัณฑ์ผสมเรเดียม มากมายออกจำหน่าย เช่น น้ำที่มีสารเรเดียมบรรจุขวด ยาสีฟัน ยาเหน็บทวารหรือช่องคลอดผสมสารที่มีเรเดียม และแม้แต่เครื่องดื่มคอกเทลเรืองแสงด้วยเรเดียม

          แน่นอนว่า รังสีจากเรเดียมก็มีการนำมาใช้ในการรักษาเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากการเทคนิคสกัดเรเดียมค้นพบในฝรั่งเศสโดยมาดามคูรี และปริมาณที่สกัดได้ก็น้อย โดยต้องสกัดแร่พิตช์เบลนด์ราว 7 ตัน กว่าจะได้เรเดียมแต่ละกรัม

          ลุย-เฟรเดริก วิกแฮม (Louis-Fr?d?ric Wickham) เป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง ได้บุกเบิกการใช้รังสีจากเรเดียมในการรักษาตั้งแต่ปี 1903 พอถึงปี 1906 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ห้องปฏิบัติการชีววิทยาด้านเรเดียม (Laboratoire Biologique du Radium) ซึ่งถือได้ว่าเป็น สถาบันเรเดียม (Radium Institute) แห่งแรกของโลก เขาปี 1909 วิกแฮมเขียนหนังสือ (เขียนร่วมกับ ปอล เดอเกรย์) ที่ได้ชื่อว่า เป็นหนังสือเล่มแรกที่เขียนถึงการรักษาด้วยเรเดียม ในวงการยอมรับว่าเขาเป็น บิดาแห่งการรักษามะเร็งด้วยเรเดียม (father of the radium treatment of cancer) โดยระหว่างปี 1910-1913 เขาตีพิมพ์ผลการรักษามะเร็งด้วยเรเดียมเอาไว้ถึง 1000 ราย และในปี 1913 นั้นเอง วิกแฮมได้เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร จากอาการป่วยจากรังสี เมื่ออายุได้ 52 ปี

ลุย-เฟรเดริก วิกแฮม

          หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) ในปี 1919 มาดามคูรีตั้ง สถาบันมารีกูรีด้านเรเดียม (Marie Curie’s Institut du Radium) และสถาบันมีผลงานโดดเด่นจนบดบังรัศมีของวิกแฮมผู้วายชนม์ไปก่อนแล้ว ดังนั้น บันทึกผู้เสียสละชีวิตแก่เรเดียมจึงมีน้อยกว่าผู้เสียชีวิตจากรังสีเอกซ์ ซึ่งมีการใช้อย่างกว้างขวางกว่ามาก สำหรับมาดามคูรีเอง ที่เสียชีวิตจากอาการป่วยหลายอย่าง รวมทั้งโลหิตจาง ที่เกิดจาก ภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) เมื่อปี 1934 และขณะนั้นเชื่อกันว่าเกิดจากการพกพาสารเรเดียมติดตัวเป็นประจำ แต่ทว่า เมื่อปี 1995 ปีแอร์และมาดามคูรีก็ได้รับเกียรติอีกครั้ง โดยการย้ายสุสานไปที่วิหาร ปองเตอง (Panth?on) ในกรุงปารีส อันเป็นที่ฝังศพของบุคคลยิ่งใหญ่ของชาติฝรั่งเศส ทำให้ได้ตรวจสอบกระดูกของเธออีกครั้ง และเริ่มมีความเห็นใหม่ว่า สาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากการได้รับรังสีเอกซ์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เธอประกอบรถเอกซเรย์จำนวนหนึ่ง และออกไปสนามรบเพื่อเอกซเรย์บาดแผลให้กับทหารหาญ

          ต้องรอถึงทศวรรษที่ 1920 กว่าที่มาตรการป้องกันจะเริ่มเป็นการบังคับ แม้มีขั้นตอนอื่น ๆ ขึ้นมาก่อนบ้างแล้ว ก็ตาม ที่มีบันทึกไว้ก็คือ ในปี 1908-1909 โรงพยาบาลลอนดอน นับเป็นแห่งแรก ๆ ที่ให้การป้องกันรังสีแก่ผู้ปฏิบัติงาน จึงเห็นได้ว่า โดยทั่วไป ผู้เกี่ยวข้องกับรังสีไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อรังสีกันเลย อาจเพราะรังสีนั้น มองก็ไม่เห็น กลิ่นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่ได้ยิน และแม้แต่สัมผัสก็ไม่รู้สึก ยิ่งไปกว่านั้น ผลต่อร่างกายต่าง ๆ ก็เกิดอย่างช้า ๆ และมักจะเสริมกับเหตุอื่น ๆ แต่แน่นอนว่า การได้รับรังสีซ้ำ ๆ และนาน ๆ ส่งผลร้ายชัดเจนที่มือ และแม้แต่เสียชีวิตด้วยอายุน้อย ๆ มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่สละชีวิตให้กับการทดลอง และปฏิบัติงานกับรังสี ทั้งรังสีเอกซ์และการใช้สารเรเดียม ดังนั้น ในปี 1936 โดยการเสนอแนะของ ฮันส์ ไมเออร์ (Hans Meyer) รังสีแพทย์ (radiotherapist) ชาวเยอรมัน จากเมืองเบรเมน สมาคมเรินต์เกนแห่งเยอรมนี (Deutsche R?ntgen Gesellschaft หรือ German Roentgen Society) จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเรียกว่า “อนุสาวรีย์ผู้สละชีพเพื่อรังสีเอกซ์และเรเดียม” (Monument to the X-ray and Radium Martyrs) ให้แก่ผู้สละชีวิตเพื่องานทางรังสีจากทุกเชื้อชาติ อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่บนลานสนามใกล้กับ ภาครังสีวิทยา ภายใน โรงพยาบาลเซนต์จอร์จ (Allgemein Krankenhaus Stt.Georg หรือ General Hospital of St. Georg) ณ เมืองฮัมบูร์ก โรงพยาบาลนี้ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่ผู้บุกเบิกด้านรังสีเอกซ์อีกคนหนึ่งคือ ไฮน์ริช อัลเบอส์-เชินแบร์ก (Heinrich Albers-Schoenberg) ผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจากรังสีเมื่อปี 1921

          คำจารึกที่อนุสรณ์แห่งนี้ เขียนขึ้นโดย จอร์จ ดับเบิลยู.ซี. เคย์ (George W.C. Kaye) จาก ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งชาติของอังกฤษ (British National Physics Laboratory) และเขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการด้านวิทยาศาสตร์คนแรกของไอซีอาร์พี (International Commission on Radiological Protection) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1928 คำจารึกมีว่า

          “แด่ นักวิทยาเรินต์เกนและนักรังสีวิทยาทุกชนชาติ แพทย์ นักฟิสิกส์ นักเคมี เจ้าหน้าที่เทคนิค เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และพยาบาล ผู้สละชีวิตเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนา ๆ ของมนุษยชาติ พวกเขาคือ วีรบุรุษผู้นำ เพื่อการพัฒนาการใช้รังสีเอกซ์และเรเดียมในทางการแพทย์ อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล เกียรติยศแห่งผลงานของผู้อุทิศชีวิตเหล่านี้ย่อมเป็นอมตะ”

จอร์จ ดับเบิลยู.ซี. เคย์

          ในบรรดารายชื่อที่สลักไว้บนแแท่งหินที่รายรอบขึ้นเป็นอนุสาวรีย์แห่งนี้ ในตอนแรกมี 169 คนจาก 15 ชาติ ชาติจำนวนผู้เสียชีวิตมากลำดับต้น ๆ คือ ชาวอังกฤษ 14 คน ชาวเยอรมัน 20 คน ชาวอเมริกัน 39 คน และชาวฝรั่งเศส 40 คน

          เฉพาะชาวอังกฤษ 14 คนนั้น แน่นอนว่าชื่อแรกคือ เรจินัลด์ แบล็กออล รายชื่อทั้งหมด ได้แก่ เรจินัลด์ แบล็กออล แบร์รี แบล็กเค็น (Barry Blacken) จอห์น ฮอลล์ เอดเวิร์ดส์ (John Hall-Edwards) เซซิล ลิสเตอร์ (Cecil Lyster) สแตนลีย์ เมลวิลล์ (Stanley Melville) ฮิวจ์ วอลแชม (Hugh Walsham) จอห์น ชิซึล์ม วิลเลียมส์ (John Chisholm Williams) เออร์เนสต์ วิลสัน วิลเลียม ไอออนไซด์ บรูซ (William Ironside Bruce) วิลเลียม โฮป ฟาวเลอร์ (William Hope Fowler) เจ.ดับเบิลยู.แอล. สเปนซ์ (J W L Spence) ดอว์สัน เทิร์น (Dawson Turne) เจมส์ ริดเดลล์ (James Riddell) และ จี.เอ. เพียรี (G A Pirie) (6 คนหลังเป็นเชื้อชาติสกอต)

          ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีผู้เสียสละชีวิต 1 รายหรือ 2 รายจากประเทศเล็ก ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ชาวออสเตรเลีย 2 คน ซึ่งสามารถค้นหาชื่อมาได้ คือ เอช. แฮริส (H. Harris) และ เจ. ยัง (J. Young) ในการเพิ่มเติมรายชื่อภายหลังมีชาวออสเตรเลียอีก 2 คน ได้แก่ เฟรเดอริก ดับเบิลยู.ดี. คอลเลียร์ (Frederick W. D. Collier) ศัลยแพทย์จากเมืองนิวคาสเซิล และ เฟรเดอริก อาร์. ฟอร์สเตอร์ (Frederick R. Forster) ทันตแพทย์จากเมืองซิดนีย์ ทั้งนี้ ในการเพิ่มเติมชื่อภายหลังนั้น มีรายชื่อเพิ่มอีก 191 คน รวมเป็น 360 คน โดยชาวฝรั่งเศสมีจำนวนสูงสุด 65 คน ตามมาด้วยชาวเยอรมัน 59 คน ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษ 55 และ 42 คน ตามลำดับ ดังในตารางต่อไปนี้

จำนวนผู้สละชีพจากรังสีเอกซ์และเรเดียมจำแนกตามเชื้อชาติ
(Meyer, 1937; Holthusen et al., 1959)

ฝรั่งเศส 65 รัสเซีย 13 ออสเตรเลีย 2
เยอรมัน 59 ฮังการี 11 ฟินแลนด์ 2
อเมริกัน 55 ออสเตรีย 8 อิสราเอล 2
อังกฤษ 42 สวิส 7 โปรตุเกส 2
อิตาลี 29 เบลเยียม 5 ดัตช์อีสต์อินดีส 1
ญี่ปุ่น 28 เดนมาร์ก 5 กรีซ 1
เชโกสโลวะเกีย 17 สเปน 4 โปแลนด์ 1
        ยูโกสลาเวีย 1

อ้างอิง

  • Owen, M. (1962), Australian X-Ray Martyrs. Australasian Radiology, 6: 90–93. doi: 10.1111/j.1440-1673.1962.tb01097.x
  • Arty R. Coppes-Zantinga, MA; Max J. Coppes, MD, PhD, The early years of radiation protection: a tribute to Madame Curie, CMAJ, DEC. 1, 1998; 159 (11).
  • The History of ICRP and the Evolution of its Policies
  • Geoff Meggitt, The Early Years of X-rays, Taming the Rays, 2008
  • Felix Umansky, M.D.; Yigal Shoshan, M.D.; Guy Rosenthal, M.D.; Shifra Fraifeld, M.B.A.; Sergey Spektor, M.D., PH.D, Radiation-Induced Meningioma, Neurosurgical Focus, Authors and Disclosures. Posted: 06/26/2008; Neurosurg Focus. 2008;24(5):E7 ? 2008
  • Van Tiggelen R., Since 1895, orthopaedic surgery needs X-ray imaging: a historical overview from discovery to computed tomography, JBR-BTR., 2001;84(5):204-13.
  • Mould, R. F. (1980). A history of X-rays and radium. IPC Business Press Ltd, Sutton, Surrey.
  • Sir Richard Doll, Hazards of ionising radiation: 100 years of observations on man, British Journal of Cancer (1995) 72, 1339-1349.
  • D.B. "X-rays, not radium, may have killed Curie." Nature 377 (1995): 96.

โพสต์เมื่อ : 31 มกราคม 2555