Nuclear Science
STKC 2555

10 ลำดับอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากรังสีอันเป็นที่กล่าวขวัญ

ลำดับที่ :

10

เซซิล เคลลีย์ (Cecil Kelley)

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 1958 เกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงงานแปรสภาพพลูโทเนียมที่ ลอสอะลาโมส (Los Alamos) โดยเกิดกับ เซซิล เคลลีย์ (Cecil Kelley) พนักงานด้านเคมีผู้มีประสบการณ์สูง ขณะกำลังทำงานกับถังผสมขนาดใหญ่ ตามปกติภายในถังน่าจะเป็นสารละลาย “เจือจาง” กล่าวคือ มีพลูโทเนียมต่ำกว่า 0.1 กรัมต่อลิตร แต่ทว่า ในวันนั้น ความเข้มข้นที่แท้จริงสูงกว่าเคยถึง 200 เท่าตัว ดังนั้น เมื่อเคลลีย์เปิดเครื่องกวน ของเหลวในถังก็ม้วนตัวเป็นเกลียว และทำให้ชั้นสารละลายที่มีพลูโทเนียม มีปฏิกิริยานิวเคลียร์รุนแรงขึ้นจนเข้าสู่ ภาวะวิกฤต (criticality) ซึ่งปลดปล่อยนิวตรอนและรังสีแกมมาเป็นอันมาก ให้ระเบิดพรวดออกมาอย่างแรงหนึ่งครั้ง โดยกินเวลาสั้นมากเพียง 200 ไมโครวินาที (200 ใน 1,000,000 ของวินาที)
ก่อนเกิดอุบัติเหตุ สารละลายในถัง แยกเป็นชั้นอินทรีย์อยู่ข้างบน และข้างล่างเป็นสารละลายชั้นน้ำ ถังที่เกิดอุบัติเหตุ
(ภาพ : วิกิพีเดีย)
          ขณะนั้นเคลลีย์ซึ่งยืนอยู่บนบันไดเตี้ยข้างถัง และกำลังมองเข้าไปภายในถังผ่านช่องเจาะข้างถัง ก็ตกลงมาล้มฟาดลงบนพื้น พนักงานอีก 2 คนที่ทำงานอยู่ด้วย รู้สึกว่ามีแสงสว่างขึ้นวาบหนึ่ง พร้อมกับได้ยินเสียงดังผั่วะ เหมือนมีของตกลงที่พื้น ทั้งคู่จึงรีบเข้าไปช่วยเคลลีย์ และพบว่าเขามีอาการพูดไม่ปะติดปะต่อ (incoherent) ได้ยินว่า “ผมกำลังถูกเผา ! ผมกำลังถูกเผา !” เคลลีย์ถูกพาส่งไปโรงพยาบาลทันที ขณะนั้นเขามีอาการกึ่งสลบ ขย้อน อาเจียน และมีภาวะระบายลมหายใจเกิน (hyperventilating) ที่โรงพยาบาล สิ่งขับถ่ายต่าง ๆ จากร่างกายของเขา มีกัมมันตภาพรังสีสูงพอทำให้เครื่องวัดรังสีอ่านค่าได้

          สองชั่วโมงหลังอุบัติเหตุ ภาวะของเคลลีย์ดีขึ้นโดยพูดได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ครู่ต่อมาก็เป็นที่แน่ชัดว่า เคลลีย์จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ผลตรวจแสดงว่าไขกระดูกของเขาถูกทำลาย และอาการปวดท้องก็เริ่มไม่บรรเทา แม้จะกินยาก็ตาม เคลลีย์เสียชีวิตหลังเกิดอุบัติเหตุได้ 35 ชั่วโมง

จาก

โพสต์เมื่อ : 20 กุมภาพันธ์ 2555