Nuclear Science
STKC 2555

10 ลำดับอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากรังสีอันเป็นที่กล่าวขวัญ

ลำดับที่ :

5

มารี กูรี (Marie Curie)

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

          มารี สคลอดอฟสกา กูรี (Marie Sklodowska Curie) เป็นนักฟิสิกส์ นักเคมี และเป็นผู้บุกเบิกในสาขา กัมมันตภาพรังสี (radioactivity) อันที่จริง แม้ว่า อองรี แบ็กเกอแรล (Henri Becquerel) จะเป็นผู้ค้นพบ ปรากฏการณ์นี้จากธาตุกัมมันตรังสี ยูเรเนียม (uranium) เมื่อปี 1896 แต่อีกหลายปีต่อมา มารี กูรี นี่เอง ที่เป็นผู้บัญญัติชื่อปรากฏการณ์ กัมมันตภาพรังสี ขึ้นมา
          สามีของมารีคือ ปีแอร์ กูรี (Pierre Curie) รู้สึกดึงดูดและท้าทายมากในงานวิจัยของภารรยา ถึงกับตัดสินใจระงับงานวิจัยของตัวเองไว้ก่อน แล้วมารีกับสามีก็มาช่วยกันวิจัยสมบัติของสินแร่ยูเรเนียมที่แตกต่างกัน 2 ชนิดคือ พิตช์เบลนด์ (pitchblende) และ แชลโคไลต์ (chalcolite) ซึ่งทำให้พวกเขาค้นพบธาตุ เรเดียม(radium) และ พอโลเนียม (polonium) โดยทั้งสองธาตุนี้ล้วนเป็นธาตุกัมมันตรังสีเช่นเดียวกับยูเรเนียม
          สามีภารรยาคูรีช่วยกันสกัดแยกเรเดียมออกจากสินแร่พิตช์เบลนด์ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นภารกิจที่ยากเย็นเสมือนกับ เข็นครกขึ้นภูเขา ทีเดียว เพราะจากพิตช์เบลนด์หนัก 1 ตัน พวกเขาสามารถสกัดเรเดียมคลอไรด์ออกมาได้เพียง 0.1 กรัม (1 ส่วนใน 10 ล้านส่วน) โชคไม่ดีที่พวกกูรีไม่รู้ถึงผลในทางบั่นทอนสุขภาพ จากการรับรังสีซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปราศจาก สิ่งป้องกัน ปีแอร์ถูกรถม้าชนเสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี 1906 ส่วนมารีมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 28 ปี โดยเธอยังคงทำงานวิจัย ต่อเนื่องไป และได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง (ทั้งสาขาฟิสิกส์และสาขาเคมี) มารีมักจะพกพาหลอดทดลองบรรจุด้วย ไอโซโทปรังสีไว้ในกระเป๋าเสื้อ และเมื่อเก็บก็จะเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ซึ่งเธอก็สังเกตเห็นแสงสีน้ำเงินเขียว ที่สารในหลอดเปล่งออกมาเมื่ออยู่ในที่มืด ๆ ทึม ๆ
          มารี กูรี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1934 จากอาการซึ่งแพทย์สมัยนั้นวินิจฉัยว่า ภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anemia) ศพของเธอถูกฝังไว้ที่สุสานในย่าน โซ (Sceaux) เคียงข้างกับสามีนั่นเอง ห้องปฏิบัติการของมารี ถูกสงวนไว้ที่ พิพิธภัณฑ์กูรี (Musee Curie) สิ่งของต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์มีระดับกัมมันตภาพรังสีค่อนข้างสูง เอกสารของเธอตั้งแต่ยุค 1890 จัดว่าอันตรายหากจะต้องถือไปถือมานาน ๆ โดยเฉพาะสมุดจดการทดลองของเธอ ก็มีรังสีสูง ทั้งหมดนี้จึงถูกเก็บไว้ในกล่องที่บุด้วยตะกั่ว ซึ่งผู้ที่ต้องการอ่านค้นคว้าหาความรู้ จะต้องสวมเครื่องป้องกันรังสี
มารี กูรี

เกิด :
7 พฤศจิกายน 1867

ตาย :
4 กรกฎาคม 1934(อายุ 66 ปี)
Passy (Haute-Savoie)
ประเทศฝรั่งเศส

ความเป็นพลเมือง (Citizenship) :
รัสเซีย ภายหลังเป็นฝรั่งเศส

เชื้อชาติ (Nationality) : โปแลนด์

สาขาการศึกษา : ฟิสิกส์และเคมี

สถาบันการศึกษา :
มหาวิทยาลัยปารีส [ESPCI ?cole sup?rieure de physique et de chimie industrielles de la ville de Paris; The City of Paris Industrial Physics and Chemistry Higher Educational Institution]

จาก

โพสต์เมื่อ : 21 กุมภาพันธ์ 2555