Nuclear Science
STKC 2555

ตะกอนน้ำวุ้นตา แสงแวบในลูกตา วุ้นตาเสื่อม Floaters, Flashing, and Vitreous Degeneration

นายโกมล อังกุรรัตน์

หลังเกษียนการทำงานเขาก็จัดให้ไปอยู่ในชนชั้นผู้สูงอายุ ก็อย่างว่า เมื่อเป็นผู้สูงวัยก็ต้องมาพร้อมกับโรคภัยที่คอยเบียดเบียน ผมก็อยู่ในกรณีนี้ไม่มีข้อยกเว้น เมื่อกำลังอาบน้ำอยู่ดี ๆ ฉับพลันก็มองเห็นหยากไย่คล้ายใยแมงมุม ล่องลอยอยู่ข้างหน้าเต็มไปหมด และมาพร้อมกับแสงแวบ ๆ เป็นบางครั้ง จนคิดว่ามีอะไรติดผมอยู่ตรงหน้า พยายามเอามือปัดออก แต่อาการดังกล่าวก็ยังไม่หายไป จนรอตั้งสติอยู่สักครู่ อาการต่าง ๆ ก็ค่อยทุเลาลง พร้อมกับแสงแวบ ๆ ก็ลดน้อยลง แต่ก็ยังมีอาการอยู่เรื่อย ๆ อาการเริ่มเป็นเมื่อวันจันทร์กว่าผมจะนัดหมอที่ คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ได้ ก็วันพฤหัสบดี—สามวันพอดี พอเล่าอาการให้พยาบาลแผนกคัดกรองอาการฟัง ก็รีบดำเนินการหยอดยาขยายม่านตาเลย นั่งรอให้ม่านตาขยายประมาณ 20–30นาที ก็ได้เข้าพบแพทย์ ดำเนินการสแกนตรวจดูวุ้นลูกตาและจอประสาทตา ผลสรุปหมอบอกว่า วุ้นลูกตาเสื่อมและจอประสาทตาฉีกขาด ต้องดำเนินการ อุดการฉีกขาดของจอประสาทตา โดยการยิงด้วย เลเซอร์ ซึ่งต้องรีบดำเนินการเลย แต่ต้องลงนามในแบบฟอร์มยินยอมให้รักษาด้วยวิธีการนี้ก่อน เพื่อป้องกันในกรณีอาจเกิดข้อผิดพลาด และกรณีป้องกันการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายภายหลัง ทั้งนี้ตามความเข้าใจของผมเอง เพราะหลังจากหยอดยาขยายม่านตาแล้ว การที่จะอ่านหนังสือเป็นกรณีที่ยากมาก ทุกสิ่งเบลอไปหมด แต่ผมก็เซนยินยอมให้รักษา ก็ไปเข้าห้องยิงเลเซอร์ เริ่มจากฉีดยาชารอบดวงตา แล้ววางศีรษะให้พอดีกับอุปกรณ์ช่วยล็อกศีรษะ พร้อมกันมีคุณพยาบาลคอยจับศีรษะไม่ให้เคลื่อนไหวช่วยอีกแรงหนึ่ง หลังจากหมอปรับตำแหน่งเลเซอร์ได้แน่นอนแล้ว ก็ระดมยิงเลยทันทีจนผมนับไม่ทัน มีการหยุดยิงเป็นช่วง ๆ เพื่อดูผลการยิง และตำแหน่งการฉีกขาดที่ถูกซ่อมแซมด้วยเลเซอร์ การดำเนินการใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซึ่งตอนการยิงก็มีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ตามจังหวะการยิง หลังจากหมอยิงเสร็จแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันช่างเป็นเวลาที่เนิ่นนานจริง ๆ พยายามนั่งนิ่ง ๆ ก่อน เพราะทุกสิ่งมันมึนไปหมด พร้อมกับการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ทุกสิ่งมองเห็นเป็นสีม่วงสดใส รอจนอาการดีขึ้นก็ไปรับใบสั่งยาพร้อมกับจ่ายเงิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสี่พันกว่าบาท แต่ผมก็ใช้สิทธิ์ผู้สูงอายุจ่ายตรง ต้องจ่ายเพิ่มสองพันบาทก็ไม่แพงเลยนะ หมอจ่ายยาหยอดตาแก้อักเสบมาหนึ่งขวด ให้หยอดวันละสี่เวลา เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน โดยในใบกำกับยาบ่งบอกว่าเป็นยาอันตราย อาจมีผลข้างเคียงในการได้ยินอาจลดลง หรือสูญเสียการได้ยินไป ผมก็มานึกว่ารักษาตาแล้วหูไม่ได้ยินมันจะคุ้มกันไหมนี่ แต่คนเรามันก็ต้องคิดบวกจริงไหม ถ้าระหว่างการหยอดยาภริยาบ่น เราก็ทำเป็นไม่ได้ยินแล้วบอกว่าเป็นผลข้างเคียงของยา แต่ผมก็หยอดยาจนหมด หลังจากนั้นอาการแสงแวบ ๆ ก็น้อยลง ส่วนการมองเห็นหยากไย่จะมีอยู่ตลอดไปไม่หาย และหมอบอกว่าต่อไปร่างกายก็จะปรับตัวเอง และเคยชินจนไม่สังเกตเห็นตะกอนหยากไย่ดังกล่าวในที่สุด ผมก็ขอไปสืบค้นคัดลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาเล่าเรื่องของ ตะกอนน้ำวุ้นตา แสงแวบในลูกตา มาเล่าให้ฟังกัน

วุ้นตาเสื่อม คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

วุ้นตา (VITREOUS) เป็นของเหลวที่อยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ตามปกติจะมีลักษณะใสเหมือนเยลลี่ ทำให้แสงที่เข้าสู่ตาผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้นหรือมีความผิดปกติของลูกตา เช่น สายตาสั้นมาก ๆ หรือเคยมีโรคของจอประสาทตาหรือลูกตาส่วนหลังมาก่อน อาจทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงที่วุ้นตา เกิดเป็นตะกอนเล็ก ๆ ขึ้นในวุ้นตาได้ ผู้ป่วยมักมองเห็นเงาของตะกอนดังกล่าว มีลักษณะเหมือนจุดหรือแมลงลอยไปมา หรือมองเห็นเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้งลอยไปมาได้ ตะกอนดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ และผู้ป่วยมักจะปรับตัว และเคยชินจนไม่สังเกตเห็นตะกอนดังกล่าวในที่สุด ในผู้ป่วยบางรายที่มีวุ้นลูกตาเสื่อม อาจมองเห็นแสงแวบขึ้นในลูกตาคล้ายฟ้าแลบ ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วหายไปในที่สุด

ต้องทำอย่างไรเมื่อมีอาการดังกล่าว ?

เนื่องจากมีโรคหรือภาวะอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่มีอาการเริ่มแรกคล้ายกับวุ้นตาเสื่อม เช่น โรคจอประสาทตาขาดหรือลอก เลือดออกในวุ้นตา วุ้นตาหรือจอตาอักเสบ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าว และไม่เคยได้รับการตรวจจอประสาทตามาก่อน ควรได้รับการตรวจจอประสาทโดยจักษุแพทย์ เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือตรวจติดตามเป็นระยะตามความจำเป็น

ต้องเตรียมตัวมาตรวจอย่างไร ?

การตรวจวุ้นตาและจอประสาทตา จำเป็นต้องหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20–30 นาที หลังจากนั้นตาจะมัวลงเล็กน้อย และไม่สามารถมองไกล ๆ ได้ชัดเจนเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง ผู้ป่วยไม่ควรขับรถ และควรมีญาติมาด้วย หลังหมดฤทธิ์ยาขายม่านตา การมองเห็นจะกลับมาเป็นปกติ

โรคจอประสาทตาหลุด (Retinal Detachment)

จอประสาทตาเป็นเยื่อบาง ค่อนข้างใส กรุอยู่ด้านในผนังลูกตา ทำหน้าที่เป็นเหมือนจอรับภาพแสงที่ผ่านจากด้านหน้าของลูกตา เพื่อรับภาพไปตามเส้นประสาทตาเข้าสู่สมองเพื่อให้สมองรับรู้ และแปลภาพว่าเป็นภาพอะไร ซึ่งในภาวะสายตาปกติ การหักเหของแสงจะลงมาตกกระทบที่จอประสาทตาพอดี

จอประสาทตาหลุด คือ การที่เยื่อชั้นนอก และชั้นในของจอประสาทตาลอกตัวแยกออกจากกันในบางส่วน และมีการลามออกไปจนในที่สุดลอกหลุดออกจากกันจนหมด

สาเหตุ

น้ำวุ้นลูกตาที่ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำวุ้นเหนียว ๆ ใส ทำให้ลูกตาคงรูปเป็นทรงกลมได้ อยู่ในช่องส่วนหลังลูกตา และอยู่ด้านหน้าของจอประสาทตา เมื่อมีการเสื่อมของน้ำวุ้นลูกตา เส้นใยของน้ำวุ้นตาอาจจะหดตัวดึงจอประสาทตาจนหลุดลอกออกได้ หรืออาจทำให้เกิดการหดตัวของชั้นจอประสาทตา ก่อให้เกิดการฉีกขาด หรือการหลุดของจอประสาทตา

ต้อกระจก การอักเสบอย่างรุนแรงของดวงตา หรือ การได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงบริเวณดวงตา สามารถเป็นสาเหตุของการหดตัวของน้ำวุ้นลูกตา นอกจากนี้คนที่มีสายตาสั้นมาก ๆ หรือมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาหลุด ก็จะมีความเสี่ยงของโรคนี้ได้

อาการ

มีการเห็นแสงแปลบ ๆ ต่อมาก็มีเงาดำลอยไปมา จึงทำให้เวลามองมีลักษณะคล้ายมีม่านมาบังตา ม่านนี้จะเริ่มแผ่ตัวมากขึ้น จนในที่สุดขยายตัวกว้างออกไปจนมองอะไรก็แทบจะไม่เห็น ซึ่งแสดงว่าการลอกตัวได้เป็นไปอย่างกว้างขวางแล้ว นอกจากนี้ เมื่อมีการฉีกขาดของจอประสาทตาจะมีเลือดออก ซึ่งทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปในดวงตาได้ จึงทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น

การรักษา

การรักษาจอประสาทตาหลุด แบ่งออกเป็น 3 แบบ

  1. การใช้แสงเลเซอร์ (Laser Photocoagulation ) แผลที่เกิดจากการใช้เลเซอร์ที่ฉายไปรอบ ๆ แผลรูฉีกของจอประสาทตา จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการฉีกขาดของจอประสาท และป้องกันของเหลวที่จะไหลไปสะสมที่ใต้จอประสาทตามากขึ้น ทำให้แผลจอประสาทตาหาย เป็นการรักษาง่าย ๆ และได้ผลดีมาก ใช้รักษารูแผลเล็กๆ ได้ดี
  2. การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) มีลักษณะเดียวกันกับการใช้แสงเลเซอร์ แตกต่างกันตรงที่วิธีนี้จะใช้ความเย็น เพื่อป้องกันการลุกลามของการฉีกขาดของจอประสาทตา
  3. การผ่าตัด การผ่าตัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการลอกของจอประสาทตา ผู้ป่วยบางรายมีการฉีดแก๊สเข้าในตาเพื่อดันจอประสาทตาไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเอียงหรือก้มศีรษะไว้เป็นเวลาหลายวันหลังผ่าตัด เพื่อจอประสาทตาจะได้ติดกลับไปที่เดิม ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องผ่าตัดด้วยวิธีตัดน้ำวุ้นตา เพราะว่ามีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หรือมีการหดตัวของน้ำวุ้นตาจนจอประสาทตาลอกตัว วิธีนี้จะเป็นการตัดเนื้อเยื่อส่วนที่ไม่ดีหรือพังผืดออกไป บางรายมีการจี้ด้วยเลเซอร์ หรือความเย็น หรือการฝัง (implant) เพื่อให้จอประสาทตาติดดีขึ้น บางรายฉีด silicone oil กดจอประสาทตาให้ติดแน่นดีขึ้นด้วย โดยทั่วไปแล้ว หลังการผ่าตัด แพทย์จะให้ยาหยอดตา หรือยาป้ายตา แต่ในบางรายถ้าผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติของสายตาร่วมด้วย แพทย์จะให้ผู้ป่วยใส่แว่นตาเพื่อเพิ่มการมองเห็นให้ชัดขึ้น
ผู้ใดใครมีอาการดังที่เล่ามาโปรดอย่าชักช้า รีบไปหาจักษุแพทย์ตรวจวินิจฉัยโดนพลัน เกิดกรณีชักช้าอาการอาจลุกลามจนสูญเสียการมองเห็นก็เป็นได้ แล้วทีนี้จะโทษใครได้